วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นการดำเนินงาน จัด ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2551-2554 และแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตามแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ.2551-2554) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้
1. นโยบายด้านการศึกษานอกระบบ
จุดเน้นการดำเนินงาน
1.1 การส่งเสริมการรู้หนังสือ: มุ่งเน้นให้สถานศึกษา สำรวจผู้ไม่รู้หนังสือในพื้นที่ให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน และดำเนินการจัดให้ผู้ไม่รู้หนังสือได้เรียนรู้จากหลักสูตรและสื่อที่เหมาะสมกับสภาพของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้โดยร่วมมือกับสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.2 การยกระดับคุณภาพการศึกษาของประชากรวัยแรงงาน: มุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมายที่ลงทะเบียนเรียน ได้เรียนในรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของตนเอง โดยมีอัตราการคงอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ในหมวดวิชาหลักไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และอัตราการจบร้อยละ 80 ในแต่ละภาคเรียน ให้ความสำคัญกับการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบระดับการศึกษาและการประสานความร่วมมือกับองค์กรหลักในการจัดการศึกษาร่วมกัน
1.3 การศึกษาต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาอาชีพและทักษะชีวิต: มุ่งเน้นการจัดการศึกษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลักสูตรระยะสั้นและการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งให้สามารถนำความรู้ ความสามารถที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งการมีคลังหลักสูตรที่หลากหลาย เพื่อรองรับการจัดบริการทางการศึกษา
1.4 การศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (การศึกษานอกระบบ): มุ่งเน้นการประสานการจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้ได้มาตรฐานพอเพียงสำหรับการประกอบอาชีพ

2. นโยบายด้านการศึกษาตามอัธยาศัย
จุดเน้นการดำเนินงาน
2.1 การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน: มุ่งเน้นการประสานความร่วมมือกับแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลแหล่งการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต การสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.2 การพัฒนาห้องสมุดประชาชน: มุ่งเน้นให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ของนักศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความรู้จากภายนอก ความรู้สากล และข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอาชีพ การทำมาหากิน
2.3 การพัฒนารูปแบบและวิธีการ: ส่งเสริมให้สถานศึกษา พัฒนารูปแบบและวิธีการเรียนรู้การศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีความหลากหลายเพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

3. นโยบายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน
จุดเน้นการดำเนินงาน
3.1 ศูนย์การเรียนชุมชน: มุ่งเน้นการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ในศูนย์การเรียนชุมชนให้เป็นฐานของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนที่มีความพร้อมจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนให้มากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายให้สำนักงาน กศน.จังหวัด จัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชน หนึ่งแห่งในตำบลเป็นศูนย์ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล เพื่อเป็นแม่ข่ายของศูนย์การเรียนต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งนี้โดยความเห็นชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล และภาคีเครือข่ายอื่น
3.2 อาสาสมัครส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย: มุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้มีจิตอาสา ตลอดจนผู้รู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อาสาสมัครเข้ามามีบทบาทในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน เป็นผู้สื่อสารข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและนำเสนอความต้องการการเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน โดยเป็นทีมร่วมกับครูในสังกัดสำนักงาน กศน. 3.3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน: มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแสวงหาความรู้ของกลุ่มเป้าหมาย การสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน การจัดการความรู้ การวิจัยชุมชนซึ่งเป็นพื้นฐานของการนำความรู้ไปแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง การพัฒนาชุมชนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ

4. นโยบายด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา
จุดเน้นการดำเนินงาน
4.1 สื่อวิทยุโทรทัศน์ และวิทยุเพื่อการศึกษา: มุ่งพัฒนารายการให้เชื่อมโยง ตอบสนอง ต่อการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยของสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
4.2 อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา: ส่งเสริมให้หน่วยงานและสถานศึกษา สังกัด กศน.มีเว็บไซต์ของตนเองโดยเชื่อมโยงกับระบบ Portal Web เพื่อให้เกิดเครือข่ายการให้บริการที่กว้างขวาง มีหลักสูตรและโปรแกรมการเรียนรู้ด้วยตนเองที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้เรียน
4.3 การศึกษาทางไกล: มุ่งพัฒนาระบบการเรียนการสอน โดยบูรณาการการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายมาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการให้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

5. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
จุดเน้นการดำเนินงาน
5.1 กิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา: มุ่งพัฒนากิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ให้เชื่อมโยงกับกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาของชุมชน มุ่งเน้นให้ชุมชนสามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้เพื่อการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน
5.2 เครือข่ายการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์: ส่งเสริมให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ทุกระดับสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งภายในองค์กร กศน. และองค์กรภายนอกเพื่อการให้บริการแก่ประชาชน และพัฒนาความรู้ของตนให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตของบุคคลและชุมชน

6. นโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
จุดเน้นการดำเนินงาน
6.1 การพัฒนาวิชาการ: มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตร สื่อ รูปแบบและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้การวิจัยเป็นพื้นฐานของการพัฒนาและมุ่งหมายให้งานวิชาการเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติที่มีคุณภาพ
6.2 การพัฒนาบุคลากร: ส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับได้พัฒนาความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะครู กศน. ซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอน โดยมุ่งพัฒนาให้เป็น กศน. มืออาชีพ ดังนี้
(1) สำนักงาน กศน.จังหวัดมีหน้าที่พัฒนาครู กศน.ในเนื้อหาสาระที่มีความเฉพาะกับบริบทของพื้นที่
(2) สถาบันพัฒนา กศน.ภาค มีหน้าที่จัดการพัฒนาครูในเนื้อหาสาระหลักที่ครู กศน. ทุกคนจำเป็นต้องรู้ (3) สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร มีบทบาทหลักในการพัฒนาบุคลากรในเนื้อหาสาระที่สำคัญต่อการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานของบุคลากรแต่ละระดับ
(4) กลุ่มการเจ้าหน้าที่ จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาบุคลากร กศน.โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6.3 การนิเทศการศึกษา: ให้ความสำคัญกับการนิเทศภายใน ซึ่งเป็นบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาและส่งเสริมให้ศึกษานิเทศก์ กศน. เป็นผู้นิเทศและเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ของสถานศึกษาสังกัด กศน.
6.4 การประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย: มุ่งเน้นให้สถานศึกษา กศน.ทุกแห่งจัดระบบการประกันคุณภาพ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และให้ความสำคัญกับสถานศึกษาที่จะรับการประเมินภายนอกโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมและการจัดทำรายงานการประเมินตนเองที่ตรงกับสภาพจริงของสถานศึกษา ทั้งนี้เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

7. นโยบายด้านการส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่าย
จุดเน้นการดำเนินงาน
7.1 การประสานงานกับคณะกรรมการ: มุ่งเน้นให้สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ประสานการทำงานร่วมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามบทบาทหน้าที่เพื่อสร้างความเข้าใจงานด้านการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และเสริมสร้างโอกาสและบทบาทในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
7.2 การสร้างเสริมบทบาทของภาคีเครือข่าย: มุ่งเน้นให้หน่วยงานและสถานศึกษา กศน. ประสานงานและสร้างความ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกระดับ ทุกประเภทให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมดำเนิน งานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น การจัดให้มีสมัชชาภาคีเครือข่าย การยกย่องเชิดชูเกียรติ ทั้งนี้โดยขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานและสร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน

8. นโยบายด้านการบริหาร
จุดเน้นการดำเนินงาน
8.1 การบริหารการศึกษา: มุ่งเน้นการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัดทุกระดับ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า
8.2 การบริหารงานภาครัฐ: ให้ความสำคัญกับการบริหารตามหลักการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมการทำงานและค่านิยมร่วมขององค์กร
8.3 การเตรียมความพร้อมบุคลากรตามระเบียบข้าราชการพลเรือน: เน้นการทำความเข้าใจการเข้าสู่ระบบโดยสร้างบุคลากรใหม่ และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน
8.4 ระบบฐานข้อมูล: ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการโดยเฉพาะข้อมูลนักศึกษาและผู้เรียนในหลักสูตรต่างๆ ข้อมูลสถานศึกษา ข้อมูลศูนย์การเรียนชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการบริหารจัดการและจัดให้มีการบริการข้อมูลสารสนเทศ
8.5 การกำกับติดตาม: ให้ความสำคัญกับระบบการกำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินงาน ทั้งด้านการจัด กิจกรรมการเรียนการสอน และการบริหารของหน่วยงานและสถานศึกษา โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม
8.6 โครงสร้างพื้นฐาน: มุ่งเน้นการจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการระดมทรัพยากรในการซ่อมแซม บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานให้พอเพียงและพร้อมที่จะให้บริการทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

9. นโยบายด้านการสนับสนุนโครงการพิเศษ
จุดเน้นการดำเนินงาน
9.1 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: เน้นการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อตอบสนองแนวทางการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ของโครงการสู่กลุ่มเป้าหมาย และการพัฒนาความสามารถการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย
9.2 การส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ: ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ เด็กด้อยโอกาส เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ผู้พิการ ชาวไทยในต่างประเทศ ซึ่งมีกฎหมายและนโยบายการพัฒนาโดยเฉพาะให้ได้รับบริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

10. นโยบายด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551
จุดเน้นการดำเนินงาน
10.1 เร่งรัดการออกกฎ ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ คำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
10.2 เร่งรัดการบริหารจัดการบุคลากรให้เข้าสู่ตำแหน่ง และโครงสร้างองค์กรอย่างสมบูรณ์เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
10.3 เร่งพัฒนาโครงสร้างองค์กร ให้มีศักยภาพในการดำเนินงาน จัด ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
10.4 เร่งพัฒนาภาพลักษณ์ขององค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดี มีทัศนคติที่ถูกต้อง และเกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ไม่มีความคิดเห็น: