วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ศธ.สนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนภาษาจีนเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเหตุผลสำคัญคือ ประเทศจีนกำลังทวีความสำคัญในโลกยิ่งขึ้นทุกวัน เมื่อย้อนหลังกลับไป ๓๐ ปี พบว่านโยบายด้านเศรษฐกิจของจีน ทำให้จีนประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจในวันนี้ จนกล่าวกันว่าประเทศจีนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ตะวันออก ในปัจจุบันจีนมีประชากร ๑,๓๐๐ ล้านคน มีรายได้ต่อหัวต่อปี ๒,๓๐๐ เหรียญสหรัฐ และมี GDP ๔.๒๒ ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จีนเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับจีน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๔ ของจีน ซึ่งคาดว่าในปี ๒๕๕๓ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีน จะอยู่ที่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ และสำหรับการท่องเที่ยว ปัจจุบันจีนเป็นลูกค้าสำคัญของไทยในอันดับ ๔ จีนจึงถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทย และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาที่ ศธ.ต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะด้านการศึกษา

ความร่วมมือด้านการศึกษา การนับหนึ่งที่เป็นทางการระหว่างไทยกับจีนก็คือ การลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ โดย รมว.ศธ.ไทยได้ลงนามกับ รมช.ศธ.ของจีน เพื่อแลกเปลี่ยนในหลายด้าน ทั้งด้านบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน นักศึกษา, ด้านวิชาการ, ด้านความร่วมมือระหว่างสถาบัน ทั้งระดับโรงเรียน สถาบันอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย รวมทั้งการฝึกอบรมและการวิจัยพัฒนาด้วย และเพื่อให้กรอบความร่วมเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น นอกจากนี้ได้มีการตกลงระหว่าง รมว.ศธ.ไทยกับ รมช.ศธ.จีนว่า จะมีการหมุนเวียนกันจัดประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อปัญหาต่างๆ จะได้รับการจัดการด้วยความรวดเร็วขึ้น รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยในการประชุมครั้งแรก รมว.ศธ.ไทยได้รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะมีการพูดคุยกันในหลายประเด็นเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่ดีต่อกันในด้านการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวถึงนโยบายการเรียนการสอนภาษาจีนว่า ศธ.สนับสนุนการเรียนภาษาที่ ๓ อยู่แล้ว การเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกจากจะบังคับให้เรียนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแล้ว ศธ.ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เรียนภาษาที่ ๓ ด้วย นั่นก็คือ ภาษาจีน โดยมีนโยบายอย่างชัดเจนและเคยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี ๒๕๕๓ จะทำให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษาจีนอย่างน้อย ๕๐๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศ แต่เมื่อได้พิจารณาแล้วพบว่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม นั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำ

ปัจจุบันไทยมีสถานศึกษาที่สอนภาษาจีนจำนวน ๗๐๐ แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนที่เรียนภาษาจีน จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คน แต่ไทยยังประสบปัญหาในเรื่องสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนและขาดแคลนครูสอนภาษาจีน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับจีน ดังนี้

  • ครูอาสาจากจีน รัฐบาลจีนได้จัดครูอาสามาสอนภาษาจีนในไทยมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยในมณฑลยูนาน ได้ส่งครูอาสามาสอนในไทย จำนวนกว่า ๖๐ คน และได้ทำทวิภาคีกับโรงเรียนในภาคกลางของไทย จำนวนกว่า ๔๐ โรงเรียน ซึ่งเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับสภาพปัญหาการขาดแคลนครูสอนภาษาจีนของไทย

  • โครงการฝึกอบรมครู ซึ่งจีนได้ส่งครูมาช่วยฝึกอบรมการสอนภาษาจีนให้กับครูไทย โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลจีนยังให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่เรียนเอกภาษาจีนของไทย ไปเรียนต่อในจีน โดยเน้นเรื่องภาษา เพื่อจะได้กลับมาสอนภาษาจีนในไทย ซึ่งรัฐบาลจีนจัดทุนการศึกษาให้จำนวน ๑๐๐ ทุนต่อปี และรัฐบาลไทยก็สนองตอบโดยการเตรียมตำแหน่งครูไว้รองรับ ซึ่ง ครม.ได้มีมติอนุมัติตำแหน่งครูให้กับ สพฐ. เพื่อบรรจุครูสอนภาษาจีนจำนวน ๓๐๐ อัตรา โดยแบ่งเป็น ๓ รุ่นๆ ละ ๑๐๐ ทุน ขณะนี้ครูรุ่นแรกจบการศึกษาแล้วกำลังจะได้รับการบรรจุเป็นครู รุ่นที่ ๒ กำลังศึกษาอยู่ และรุ่นที่ ๓จะได้เรียนในช่วงต้นปี ๒๕๕๓ โครงการนี้จะช่วยให้ไทยมีครูสอนภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น

  • การเรียนการสอนภาษาจีน จากการเดินทางไปเยือนสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (Hanban) ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นสำนักงานที่ส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ เรียนภาษาจีน โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษาและสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ จัดตั้งสถาบันสอนภาษาจีน ที่เรียกว่า สถาบันขงจื้อ ซึ่งไทยได้ร่วมมือกับ Hanban มาระยะหนึ่งแล้ว ในปัจจุบันไทยได้จัดตั้งสถาบันขงจื้อเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนจำนวน ๑๓ แห่ง แบ่งเป็นระดับอุดมศึกษา ๑๒ แห่ง และในโรงเรียน ๑ แห่ง และมีห้องเรียนภาษาจีนเฉพาะที่สถาบันขงจื้อสนับสนุนอีก ๑๐ แห่ง ซึ่งจะมีการขยายต่อไปอีกในอนาคต อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อประโยชน์ให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษาจีนมากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ Hanban ก็ได้ขอความร่วมมือจากไทยในการส่งครูจีนมาเรียนภาษาไทยในไทย โดยขอให้ไทยช่วยสนับสนุนสถานที่เรียน ว่ามีมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนใดที่มีความพร้อม ซึ่งเป็นความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและความเป็นอยู่ โดย รมว.ศธ.ก็ได้ตอบตกลงไปแล้ว และขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานให้ครูจีนเข้ามาเรียนในไทย เพื่อประโยชน์ในการสอนภาษาจีนให้ครูไทยด้วย เพราะถ้ารู้ภาษาไทย จะช่วยให้การสื่อสารในการสอนภาษาจีนรวดเร็วขึ้น

  • สื่อการเรียนการสอนภาษาจีน จากการที่ รมว.ศธ.ได้เดินทางไปเยือนสำนักพิมพ์อุดมศึกษาของจีน (HEP) ซึ่งจัดพิมพ์สื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน สนับสนุนส่งเสริมทั้งในประเทศจีนและส่งออกเทคโนโลยี และสื่อสิ่งพิมพ์ไปยังประเทศต่างๆ โดยไทยได้มีความร่วมมือกับจีนด้านสื่อการเรียนการสอน ซึ่งจีนก็ยินดีและพร้อมจะสนับสนุนเทคโนโลยีในการผลิตสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมทั้งภาษาจีน โดยไทยสามารถนำมาดัดแปลงเป็นภาษาไทยได้ในอนาคต เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาก นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะให้ลิขสิทธิ์กับไทยและอาจจะมีการเจรจาต่อรองทำให้ไทยซื้อได้ในราคาถูก ขณะนี้จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจาแล้ว เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ สสวท.ซึ่งมีหน้าที่ผลิตสื่อวิทยาศาสตร์ จะเดินทางไปศึกษาการจัดทำสื่อที่สำนักพิมพ์นี้ด้วยเช่นกัน

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า จีนเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่สนใจเรียนภาษาไทย ซึ่งก็เป็นนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการสนับสนุนให้ชาวต่างชาติมาเรียนภาษาไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) ขณะนี้มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนในไทย จำนวน ๓๐,๐๐๐ คน โดย ศธ.ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี ๒๕๕๗ จะทำให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนในไทยจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน มีตลาดใหญ่ที่สุดก็คือ จีน

นอกจากนี้ ศธ. ยังได้ไปจัดนิทรรศการการศึกษาที่จีน พบว่า มีนักเรียน นักศึกษาให้ความสนใจมาชมนิทรรศการหลายพันคน เป็นการช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาจีนหรือชาวต่างประเทศมาเรียนภาษาไทยมากขึ้น และยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย กระชับความความร่วมมือระหว่างกัน ขณะเดียวกันเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยไทย นอกจากเรียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนแล้ว ยังได้เรียนภาษาไทยด้วย ช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคได้ในอนาคต.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คือว่านู๋ อยากทราบว่าที่ไหนรับบรรจุครูเอกภาษาจีนบ้างคะ สนใจอ่าค่ะ อยากรับข้าราชการ คือตอนนี้นู๋ เรียนเอกการสอนภาษาจีน มหาวิทยาลัยบูรพาค่ะ ปีห้า ฝึกสอนปีสุดท้ายแล้ว จบประมานมีนาปี 2554 ค่ะ...
รบกวนช่วยชี้แนวทางหน่อยนะคะ..
ขอบคุนมากค่ะ...