วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กรอบมาตรฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัย

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องมาตรฐาน ๕ ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ/การจัดโครงสร้างองค์การ, บุคลากร, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, คุณภาพเด็กปฐมวัย และการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม รวมทั้ง ๓๒ ตัวบ่งชี้ เช่น การจัดโครงสร้างการบริหารจัดการศูนย์, ผู้ดูแลเด็กทุกคนได้รับการอบรมด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย อย่างน้อยทุก ๒ ปี, มีวัสดุอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ฯลฯ ซึ่งจะเป็นมาตรฐานและตัวบ่งชี้เบื้องต้น เพื่อนำไปทดลองใช้นำร่องและนำผลกลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า กรอบมาตรฐานและตัวบ่งชี้นี้มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด เมื่อได้กรอบมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่มีความชัดเจนแน่นอนแล้ว ต่อไปนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศต้องนำมาตรฐานและตัวบ่งชี้นี้ไปดำเนินการ

โดยในปัจจุบันมีศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ จำนวน ๒๐,๐๐๐ แห่ง มีเด็กเรียนในศูนย์ ๘๖๐,๐๐๐ คน และมีผู้ดูแลเด็ก ๔๗,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะได้มีการโอนมาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงอื่นๆ ไปที่ อปท.เกือบทั้งหมด รวมทั้งในส่วนที่ อปท.ได้จัดดำเนินการเองด้วย นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้สถานประกอบการ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมได้จัดทำศูนย์เด็กเล็กเพิ่มขึ้น โดยได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณาในเรื่องของการลดหย่อนภาษี เพื่อให้สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้มากกว่าในปัจจุบัน และให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาว่า ในอนาคตจะกำหนดให้เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ว่าจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กภายในนิคมอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ เพื่อต้องการให้มีการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่เบื้องต้น จะได้สอดคล้องกับการเข้าเรียนระดับอนุบาลและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนสังกัด ศธ.ต่อไปโดยไม่มีช่องว่าง

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้เป็นการนำร่องระยะหนึ่งก่อน ซึ่งยังไม่ได้มีการอนุมัติครบถ้วนทั้งหมด เพราะจะต้องนำผลการทดลองใช้มาสู่ที่ประชุมเพื่ออนุมัติหรือพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีมาตรฐาน ๕ ด้าน และ ๓๒ ตัวบ่งชี้วัดหรือไม่ เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ เพราะถ้ามีการกำหนดกรอบมาตรฐานไว้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย จะเป็นการช่วยให้ศูนย์เด็กเล็กเดินหน้าเข้าสู่มาตรฐานคุณภาพ เช่นเดียวกับในระดับมหาวิทยาลัยที่มีการทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (TQF) เกิดขึ้น ซึ่งต่อไปอาชีวศึกษา ก็จะจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึงในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน ทั้งระบบตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมหาวิทยาลัยในการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณภาพขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่เน้นคุณภาพ

สำหรับสื่อการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่จะมีการสนับสนุนและมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนา เช่น โครงการ Bookstart ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นการช่วยสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการในเรื่องของการรักการอ่าน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การให้พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงได้อ่านให้เด็กฟัง สำหรับการมุ่งเน้นมาตรฐานนี้ ศธ.จะได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: