วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ครม.เห็นชอบโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด สพฐ. เพิ่มอีก ๑,๓๑๒ ราย

รมว.ศธ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินมาตรการฯ ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คปร.กำหนด และกำหนดเงื่อนไขให้มีการบรรจุทดแทนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ทุกตำแหน่งโดยมีระยะเวลาปฏิบัติราชการ แต่ด้วยข้อจำกัดของบุคลากร จึงได้อนุมัติให้ข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้เพียง ๘,๗๙๕ ราย จากผู้สมัครทั้งสิ้น ๑๐,๑๐๗ ราย และยังคงเหลือผู้สมัครที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ อีกจำนวน ๑,๓๑๒ ราย

ครม.จึงได้อนุมัติให้ข้าราชการที่เหลือจำนวน ๑,๓๑๒ ราย ได้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยใช้งบประมาณปี ๒๕๕๓ ของ สพฐ.เจียดจ่ายช่วยเหลือไปก่อนจำนวนประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท ซึ่ง ครม.มีเงื่อนไขว่าเงินขวัญถุงจำนวน ๘-๑๕ เท่าของเงินเดือน ขอให้จ่ายเพียง ๙ เท่าก่อนในปี ๒๕๕๓ ส่วนที่เหลือจะจ่ายในปีงบประมาณ ๒๕๕๔

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า หากไม่ใช้วิธีนี้ ข้าราชการจำนวน ๑,๓๑๒ รายก็จะไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่โดยวิธีการนี้จะทำให้สามารถสนองตอบความต้องการของข้าราชการกลุ่มนี้ที่ต้องการกำหนดอนาคตของชีวิตตนเอง ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การวางแผนครอบครัว การดูแลบิดา-มารดาที่ชราภาพหรือเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งจิตใจของบุคคลกลุ่มนี้มุ่งหวังว่าตนเองจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ เหมือนเช่นปีที่ผ่านมา จึงไม่มีจิตใจและขาดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติราชการต่อไปอีกแล้ว นอกจากนี้ ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อจำนวน (โควตา) ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คปร.แล้วแต่อย่างใด และเมื่อมีตำแหน่งว่างดังกล่าวแล้ว จะทำให้สามารถสรรหาบุคคลรุ่นใหม่ คัดเลือกบุคลากรมาบรรจุทดแทนได้ตรงตามวิชาเอกที่ขาดแคลนและตรงตามความต้องการของสถานศึกษา อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาครูสอนไม่ตรงวิชาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย



  • อนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการขอจัดการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพของสถานประกอบการ พ.ศ. ....

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการขอจัดการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพของสถานประกอบการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ได้มีการกำหนดนิยามคำว่า "สถานประกอบการ" "การจัดการอาชีวศึกษา" และ "การฝึกอบรมวิชาชีพ" พร้อมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการยื่นคำขอดำเนินการการจัดการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพ รวมทั้งได้กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นผู้พิจารณาคำขอและแจ้งผลการพิจารณาให้สถานประกอบการทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ และการเพิกถอนหนังสือรับรองการจัดการอาชีวศึกษา.

ไม่มีความคิดเห็น: