วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การยกระดับพัฒนาครูทั้งระบบ

รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายมหาวิทยาลัย ๒๕ แห่งทั่วประเทศ สสวท. และ สพฐ. เรื่องแนวทางการอบรมพัฒนาครูซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในการอบรมพัฒนาครูสังกัด สพฐ.จำนวน ๔๑๗,๘๘๙ คน รวมทั้งครูสังกัดโรงเรียนเอกชนอีกส่วนหนึ่ง และได้มีการกำหนดเป้าหมายให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยจะอบรมครู ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับผู้บริหารสถานศึกษา (ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน) และระดับครูผู้สอน ในระดับประถมจะเน้นเรื่องให้ครูสามารถสอนเด็กให้มีผลสัมฤทธิ์ คือเด็กสามารถอ่านคล่อง, เขียนคล่องและคิดวิเคราะห์เป็น สำหรับครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจะเน้นความเป็นเลิศทางด้านกลุ่มสาระวิชาที่เรียน รวมทั้งการทำให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์เป็นเช่นเดียวกัน

กระบวนการอบรมจะเริ่มตั้งแต่การประเมินพื้นฐานความรู้ของครูรายบุคคลทั้ง ๔๐๐,๐๐๐ กว่าคน เพื่อจัดระดับว่าครูคนใดอยู่ในระดับสูง ระดับกลาง ระดับต้น อันจะนำไปสู่การจัดหลักสูตรฝึกอบรมต่อไป หลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการอบรมพัฒนาและมีการทดสอบเป็นระยะในช่วงการอบรมพัฒนา เมื่อการอบรมเสร็จสิ้นแล้วจะมีการทดสอบครั้งสุดท้ายอีก ๑ ครั้ง และมีกระบวนการติดตามผลสัมฤทธิ์ของครูที่มีต่อการสอนเด็กภายหลังการอบรมพัฒนา โครงการนี้มีระยะเวลา ๓ ปี เริ่มดำเนินการปี ๒๕๕๓ - ๒๕๕๕

รมว.ศธ. กล่าวเน้นถึงการอบรมผู้บริหารที่ต้องทำภายในปี ๒๕๕๓ เพราะว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นหัวใจสำคัญและเป็นผู้นำขององค์กร จึงต้องได้รับการอบรมพัฒนาให้มีศักยภาพตั้งแต่เบื้องต้น ส่วนในเรื่องของรายละเอียด เช่น จำนวนครูที่ต้องอบรมในแต่ละระดับและการจัดทำงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัย, สสวท., สพฐ. ฯลฯ ได้มอบหมายให้ที่ประชุมสรุปรายงานภายใน ๑ สัปดาห์

ในส่วนของหลักสูตรการอบรมพัฒนานั้นได้มอบเป็นแนวทางเบื้องต้นว่า ต้องสอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี ๒๕๕๓ โดยเน้นการสอนให้เด็กคิด วิเคราะห์เป็นเพิ่มขึ้น และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีการเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น: