วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การปฏิรูปการเรียนรู้ตลอดชีวิตสังคมไทย

รมว.ศธ. กล่าวว่า แม้การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะได้รับการพูดถึงกันมาตั้งแต่ช่วงการปฏิรูปการศึกษารอบแรกเมื่อปี ๒๕๔๒ แต่การปฏิรูปการศึกษาครั้งนั้นเน้นการจัดโครงสร้างองค์กรต่างๆ ของการศึกษาในระบบเป็นหลัก จึงยังไม่สนองตอบต่อการศึกษานอกระบบและการศึกษาตลอดชีวิตอย่างแท้จริง แต่เมื่อถึงการปฏิรูปการศึกษารอบสอง (๒๕๕๒-๒๕๖๑) ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้การศึกษาตลอดชีวิตเกิดขึ้นได้จริง โดยเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ได้มีเป้าหมายสั้นๆ ว่า "ต้องการให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" ซึ่งจะต้องทำให้คนไทย "เก่ง ดี มีความสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และรู้เท่าทันโลก" โดย รมว.ศธ.ได้กล่าวย้ำว่าเราจำเป็นต้องศึกษาหลักใหญ่ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบสองให้เข้าใจ มิฉะนั้นเราจะเดินไปเหมือนไม่มีเข็มทิศ ไม่มีแผนที่ ซึ่งจะส่งผลให้ทำงานอย่างไร้ทิศทาง ดังนั้นจึงต้องยึดตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ที่ได้มีการกำหนดทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาจังหวัด และแผนการศึกษากลุ่มจังหวัด ให้ทั้ง ๓ แผนเป็นหลักที่จะเดินหน้าการทำงานอย่างบูรณาการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงทิศทางของ ศธ.เกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่า สำนักงาน กศน.ต้องได้รับการจัดทัพกันใหม่ให้เป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต โดยได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปพิจารณาดูว่าโครงสร้างหน้าตาของ กศน.จะเป็นอย่างไรต่อไป จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคลหรือไม่ เพื่อให้ กศน.เป็นองค์กรหลักในการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้แขนขาของ กศน.คือ "กศน.ตำบล" ต้องเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง กศน.ตำบล ให้เกิดขึ้นครบถ้วนสมบูรณ์ทั่วประเทศทั้ง ๗,๔o๙ ตำบล

โดยได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า กศน.ตำบลจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๗ ประการ คือ บุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องมือ เครือข่าย คลังวิทยากร องค์ความรู้ และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ทุกตำบลจะมีทั้ง กศน.ตำบล และโรงเรียนดีประจำตำบลของ สพฐ. ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการศึกษานอกระบบและในระบบ

รมว.ศธ.กล่าวถึงภาระงานของ กศน.ส่วนหนึ่งว่า จะต้องเร่งรัดเก็บตกเด็กที่ไม่ได้จบการศึกษาภาคบังคับ ให้เข้ามาเรียน กศน.ให้มากขึ้น โดยเฉพาะ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเก็บตกทุกคนให้เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ส่วนในการจัดการศึกษานอกระบบนั้น ต้องมุ่งเน้นการสอนให้ผู้เรียนเน้นการคิดวิเคราะห์มากขึ้นโดยไม่เน้นการท่องจำเหมือนเดิม โดยจะต้องจัดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (TQF) ของการเรียนนอกระบบ นอกจากนี้ กศน.จะต้องมีการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการศึกษานอกระบบ คือมีข้อสอบกลางของ กศน. ให้เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เพื่อไปรับการทดสอบในต้นปีการศึกษา ๒๕๕๔

สำหรับโครงการอื่นๆ ที่ กศน.ต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนและเร่งผลักดันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมการอ่าน การจัดสร้างและปรับปรุงห้องสมุด ๓ดี โครงการจัดทำ ETV ให้เป็น E Free TV เพื่อเป็นสื่อสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tutor Channel ซึ่งเน้นย้ำว่าไม่ใช่โครงการส่งเสริมกิจการกวดวิชา แต่เป็นการติวเข้ม เติมเต็มความรู้การศึกษาทุกระบบเพื่อเด็กไทย กศน.ในภูมิภาค และ กศน.ตำบล ต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยจัดมุมบริการให้ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการรับชมฟรี หรือจัดในลักษณะ Tutor Channel Counter Service.

ไม่มีความคิดเห็น: