วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด ๗๖ แผน

รมว.ศธ. เปิดเผยว่าที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดทั้ง ๗๖ แผน เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติเกิดขึ้นโดยได้มีการกำหนดเป้าหมาย ๒ ส่วน เป้าหมายแรกคือเป้าหมายร่วมที่ทุกจังหวัดต้องรับไปดำเนินการ เป้าหมายที่ ๒ คือเป้าหมายเฉพาะในแต่ละจังหวัด สำหรับเป้าหมายร่วมจะเน้น ๓ ด้าน คือ ๑.คุณภาพ ๒.โอกาส ๓.การมีส่วนร่วม

เป้าหมายร่วมที่ ๑ คุณภาพ มี ๗ ตัวชี้วัด ได้แก่

๑.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลัก ป.๖ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ ๔๖.๑๕ ภายในปี ๒๕๕๖ จะเพิ่มเป็นร้อยละ ๕๕.๖๒ / ม.๓ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ ๓๗.๕๙ ภายในปี ๒๕๕๖ จะเพิ่มเป็นร้อยละ ๔๖.๙๖ / ม.๖ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ ๓๖.๐๘ ภายในปี ๒๕๕๖ จะเพิ่มเป็นร้อยละ ๔๕.๗๖

๒.สถานศึกษาจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินจาก สมศ. จำนวนเท่าไร โดยกำหนดว่าภายในปี ๒๕๕๖ สถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินของ สมศ. ร้อยละ ๙๗.๐๙ ของจำนวนสถานศึกษาที่ถูกประเมิน สำหรับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินร้อยละ ๑๐๐ ของจำนวนสถานศึกษาที่ถูกประเมินภายในปี ๒๕๕๖

๓.การทำให้ผู้เรียนเป็นคนดีจะประเมินโดยใช้ ๓ ดี (3D) เป็นหลัก คือประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรมความเป็นไทย และห่างไกลยาเสพติด

๔.ผู้เรียนจะต้องมีความสุขและมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งมีตัวชี้วัดกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ฐานปัจจุบันนั้นอยู่ที่ร้อยละ ๕๒.๘ กรณีผู้เรียนมีความสุขและมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยภายในปี ๒๕๕๖ จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๗๒.๘

๕.ห้องสมุดในสถานศึกษาที่จะต้องพัฒนาเป็นห้องสมุด ๓ ดี (3D) ปัจจุบันมีอยู่จำนวน ๙,๐๘๐ ห้อง ภายในปี ๒๕๕๖ จะต้องเป็นห้องสมุด ๓ ดี (3D) ไม่น้อยกว่า ๓๐,๗๔๖ ห้อง

๖.ผู้ไม่รู้หนังสือจะต้องลดลง โดยปัจจุบันผู้ไม่รู้หนังสือมีร้อยละ ๒.๘๗ ภายในปี ๒๕๕๖ จะต้องลดเหลือร้อยละ ๐.๗

๗.ความรู้เรื่องอาเซียน เนื่องจากเรากำลังจะเดินหน้าไปเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘

เป้าหมายร่วมที่ ๒ โอกาสทางการศึกษา มี ๒ ตัวชี้วัด ได้แก่

๑.ปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย ซึ่งกำหนดเป็น ๒ ช่วงอายุ ดังนี้ -ช่วงอายุ ๑๕-๓๙ ปี ปัจจุบันเฉลี่ยเรียนหนังสือ ๑๐.๖ ปี ภายในปี ๒๕๕๖ จะเพิ่มเป็น ๑๑.๙ ปี -ช่วงอายุ ๔๐-๕๙ ปี ปัจจุบันเฉลี่ยเรียนหนังสือ ๗.๗ ปี ภายในปี ๒๕๕๖ เพิ่มเป็น ๙.๒๔ ปี

๒.อัตราการเข้าเรียนของประชากรในวัยเรียนคืออายุ ๓-๒๑ ปี ปัจจุบันอัตราการเข้าเรียนอยู่ที่ร้อยละ ๘๑ ในปี ๒๕๕๖ ต้องเพิ่มเป็นร้อยละ ๘๖

เป้าหมายร่วมที่ ๓ การมีส่วนร่วมทางการศึกษา มี ๒ ตัวชี้วัด ได้แก่

๑.สัดส่วนนักเรียนรัฐบาล : เอกชน ปัจจุบันอยู่ที่ ๘๑ : ๑๙ คือเรียนรัฐบาลร้อยละ ๘๑ เรียนเอกชนร้อยละ ๑๙ ภายในปี ๒๕๕๖ ต้องปรับให้เรียนรัฐบาลลดลงเหลือ ๗๑ เรียนเอกชนเพิ่มเป็นร้อยละ ๒๙

๒.สัดส่วนการเรียนสายสามัญ : สายอาชีพ ปัจจุบันอยู่ที่ ๖๒ : ๓๘ ภายในปี ๒๕๕๖ จะต้องปรับให้เป็น ๕๓ : ๔๗

รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะทำงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดก็จะมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๑ ของแต่ละจังหวัดเป็นประธาน และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบด้านแผนเป็นเลขานุการ โดยจะมีองค์ประกอบเป็นผู้แทนทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนในการผลักดันให้แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดบรรลุเป้าหมายทั้งเป้าหมายร่วมและเป้าหมายเฉพาะ ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการรายงานความก้าวหน้าให้ที่ประชุมองค์กรหลักรับทราบทุก ๓ เดือน โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๑ ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการที่รับผิดชอบในระดับจังหวัดต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: