วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ส่งเสริมการอ่านการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการดำเนินงานทศวรรษแห่งการอ่าน โดยมียุทธศาสตร์หลัก ๓ ด้าน ประกอบด้วย ๕ แผนงาน มีโครงการต่างๆ รวมทั้งหมด ๒๐ โครงการ

· ยุทธศาสตร์หลัก ๓ ด้าน ๑.เพิ่มขีดความสามารถทางด้านการอ่านให้กับคนไทยทั้งประเทศ ๒.สร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน ๓.สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นในประเทศ

· แผนงาน ๕ แผน ๑.รณรงค์ส่งเสริมการอ่าน ๒.เพิ่มสมรรถนะทางด้านการอ่าน ๓.สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน ๔.การสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน ๕.งานด้านการวิจัย พัฒนา เพื่อส่งเสริมการอ่าน

· โครงการ ๒๐ โครงการ โดยในแต่ละแผนงานจะมีโครงการ ๒๐ โครงการ ดังนี้

แผนที่ ๑ คือ แผนงานรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน มี ๕ โครงการ คือ ๑.โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ได้มอบหมายให้คณะทำงานได้กำหนดหัวข้อหลักเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการรณรงค์ ๒.โครงการอ่านสะสมแต้ม ซึ่งจะรณรงค์ให้กับทุกภาคส่วนประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ได้อ่านหนังสือมากขึ้นโดยใช้กลยุทธ์การสะสมแต้มและมีแรงจูงใจ ๓.โครงการอ่านเพื่อชีวิต อ่านในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตของประชาชนในแต่ละคน เช่น รณรงค์ให้อ่านฉลากอาหาร ฯลฯ ซึ่งคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้น้อยมาก ๔.โครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในโอกาสสำคัญของประเทศ จะกำหนดรายละเอียดมาว่าใน ๑ ปีนั้นจะต้องรณรงค์เมื่อไร อย่างไร ๕.โครงการคาราวานส่งเสริมการอ่าน ซึ่งจะเป็นคาราวานที่เคลื่อนที่ไปยัง หมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการอ่านมากขึ้น

แผนที่ ๒ คือ แผนเพิ่มสมรรถนะทางด้านการอ่าน มี ๗ โครงการ คือ ๑.โครงการ Book start จะรณรงค์ให้อ่านตั้งแต่เด็กแรกเกิด ๒.โครงการพัฒนาการอ่านในสถานศึกษา ๓.โครงการพัฒนาเพื่อการศึกษาตามอัธยาศัย รวมภาษาต่างประเทศ ๔.โครงการพัฒนาทักษะการใช้ e-Book ๕.โครงการคลินิกภาษาไทย ๖.โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบความสามารถการใช้ภาษาไทย ๗.โครงการพัฒนาครูภาษาไทย

แผนที่ ๓ แผนสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน มี ๕ โครงการ คือ ๑.โครงการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอ่าน เช่น บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ของแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ๒.โครงการส่งเสริมการผลิตหนังสือดีมีคุณภาพเพื่อคนทุกวัย ซึ่งก็จะรวมถึงการส่งเสริมนักเขียน นักวาด ในเรื่องของการอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นต้น ๓.โครงการแนะนำหนังสือดีที่ควรอ่าน (Book Recommendation) ๔.โครงการพัฒนาเว็บไซต์ชุมชนนักอ่าน ๕.โครงการห้องสมุด ๓ ดี/3D

แผนที่ ๔ แผนการสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน มี ๒ โครงการ คือ ๑.โครงการสร้างเอกภาพและความเข้มแข็งของเครือข่าย ๒.โครงการจัดตั้งอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านทั่วประเทศ

แผนที่ ๕ แผนงานด้านการวิจัย พัฒนา เพื่อส่งเสริมการอ่าน มี ๑ โครงการ คือ โครงการวิจัยพัฒนาส่งเสริมการอ่าน ซึ่งจะเน้นการรวบรวมและการสรุปประสบการณ์และงานวิจัยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนางานส่งเสริมการอ่านของประเทศ ให้เป็นทศวรรษแห่งการอ่านรวมทั้งการทำวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญ โดยเริ่มต้นปีงบประมาณ ๒๕๕๓ เป็นต้นไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างทศวรรษการอ่านของประเทศ และให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งรวมงบประมาณของทางภาครัฐ องค์กรเอกชน และสถาบันต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งจะใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการซึ่ง กศน.เป็นองค์กรหลักที่จะรับผิดชอบ ขณะนี้ได้ลงนามตั้งสำนักงานส่งเสริมการอ่าน ภายใต้การดูแลของ กศน.เสร็จเรียบร้อยแล้ว

สำหรับเรื่องการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่านนั้น จะเน้น ๓ ส่วน ได้แก่

· ภาษีการบริจาคหนังสือ ของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยนิติบุคคลจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ๒ เท่า แต่จะต้องไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายอื่น ส่วนบุคคลธรรมดาให้หักค่าบริจาคหนังสือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ๒ เท่าแต่ไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน ซึ่งบุคคลธรรมดานั้นปัจจุบันนี้หักไม่ได้ ยกเว้นบริจาคเป็นเงินสดแต่ก็ยังหักได้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ต่อไปสามารถหักได้ไม่เกินร้อยละ ๓๐ และบริจาคเป็นหนังสือได้

· หักค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือเพื่อเข้าองค์กรในนามนิติบุคคลให้หักได้ ๒ เท่า ซึ่งปัจจุบันนี้หักไม่ได้ ส่วนบุคคลธรรมดาหากซื้อหนังสืออ่านเองก็สามารถหักค่าลดหย่อนได้ปีละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทจากเดิมที่หักไม่ได้เลย

· ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจหนังสือไม่ได้อยู่ในระบบ VAT ทำให้เกิดประเด็นปัญหาก็คือ เมื่อซื้อวัตถุดิบ เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ เครื่องจักร ฯลฯ ก็ต้องเสีย VAT แต่เรียก VAT คืนไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในระบบ ดังนั้นต้นทุนการผลิตหนังสือในปัจจุบันจึงสูง ต่อไปจะขอให้ธุรกิจหนังสือเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ให้ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นศูนย์ ซึ่งจะมีผล ๓ ประการที่จะเป็นผลดีในการส่งเสริมการอ่าน คือ เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตหนังสือลดลง และนอกจากนี้การตั้งราคาขายหนังสือถูกลง จะช่วยให้ผู้บริโภคซื้อหนังสือได้ถูกลงตามไปด้วยเพราะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ศธ.จะนำเรื่องมาตรการภาษีเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ โดยในเบื้องต้นได้มีการหารือกันแล้วว่าควรใช้ภาษีเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน.

ไม่มีความคิดเห็น: