วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แนวทางพัฒนาการศึกษาที่ทำให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับนโยบายกระบวนการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับประถมไปกระทั่งจนถึงมัธยมศึกษาปลาย เพื่อให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นเพิ่มขึ้นและสอนท่องจำเท่าที่จำเป็น ซึ่งมีข้อสรุปในแนวปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว คือ จากนี้ไปในเรื่องของหลักสูตร จะใช้หลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ โดยจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ และหลักสูตรที่จะนำไปสู่การสอนให้เด็กวิเคราะห์เป็นเพิ่มขึ้นนั้น ก็จะเป็นหลักสูตรที่ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาสาระวิชาที่เรียน ซึ่งจะลดลงประมาณร้อยละ ๓๐

ขณะเดียวกันตัวชี้วัดที่มีอยู่ที่ ๓,๐๐๐๔,๐๐๐ ตัวชี้วัด ในช่วงเวลาเรียน ๑๒ ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น จะปรับลดเหลือแค่ ๒,๑๖๕ ตัวชี้วัดเท่านั้น ผลจากการตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนและปรับลดตัวชี้วัดนี้ไม่ทำให้คุณภาพลดลง แต่จะมีผลดีในการทำให้เด็กมีโอกาสเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น โดยการเรียนนอกห้องเรียนจะเน้น ๓ ส่วน ได้แก่

๑. ทุกโรงเรียนจะต้องหาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ที่จะนำไปสู่การเรียนนอกห้องเรียน เพราะทุกโรงเรียนจะมีแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษาของตัวเอง เช่น สวนครัว หรือแม้แต่เสาธงก็เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญได้ ทั้งการเรียนเรขาคณิต ประวัติศาสตร์ และวิชาอื่นๆ หรือสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่มีอยู่ในโรงเรียน

๒. แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นซึ่งทุกโรงเรียนต้องมีข้อสรุปว่าในท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่นั้นมีแหล่งเรียนรู้อะไรบ้าง รวมไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี เรื่องราวของท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสไปเรียนรู้นอกห้องเรียนและสัมผัสกับความเป็นจริงมากขึ้น

๓. กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น กิจกรรมค่าย ทัศนศึกษา ศิลปะ ดนตรี ชมรมต่างๆ ทุกโรงเรียนจะต้องออกแบบและมีข้อสรุปว่า ต่อจากนี้ไปจะมีกิจกรรมอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพจะมีส่วนสำคัญในการเข้าไปช่วยเสริมในเรื่องของค่าใช้จ่าย

กระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่การปรับตารางสอน จากปัจจุบันที่เรียนอยู่ประมาณ ๓๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็จะมีข้อสรุปตามมาว่าในแต่ละโรงเรียนนั้นจะเรียนในห้องเรียนลดลงเหลือกี่ชั่วโมง และจะเป็นการเรียนนอกห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น นอกจากเด็กจะรู้ด้านวิชาการแล้ว เด็กก็จะคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพต่อไป

ส่วนกระบวนการปรับการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่การคิดวิเคราะห์นั้นก็จะแบ่งเป็น ๒ ระดับ โดยสอนให้คิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐานเป็น และสอนให้คิดวิเคราะห์ระดับสูงเป็น สำหรับการคิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐานนั้น จะเน้นในช่วงชั้นที่ ๑ และ ๒ คือ ประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔-๖ ส่วนการวิเคราะห์ระดับสูงจะอยู่ในช่วงชั้นที่ ๒-๓-๔ ตัวอย่างการคิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน เช่น ความสามารถในการสื่อสาร การรู้จักสังเกต รู้จักสำรวจ ค้นหา เปรียบเทียบ และคัดแยกเป็น ซึ่งจะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ได้ ส่วนการคิดวิเคราะห์ระดับสูงนั้น เช่น สามารถนิยาม วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา ตัดสินใจ และคิดอย่างมีวิจารณญาณได้ เป็นต้น

รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ๒ เรื่อง ดังนี้ ๑) กระบวนการเรียนการสอน จะต้องเน้นสอนให้เด็กสามารถเขียนเรียงความ ย่อความเป็น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าขาดหายไปมาก ถ้าคิดวิเคราะห์เป็นก็จะเขียนเรียงความและย่อความเป็น เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน ๒) ข้อสอบของ สพฐ. ต่อไปนี้จะมีข้อสอบอัตนัยเข้ามารวมกับปรนัยด้วย ไม่ได้เน้นเพียงปรนัยอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้ทุกอย่างเป็นกระบวนการเดียวกันได้ ซึ่งได้มอบให้ สพฐ.ประสานงานกับ สทศ. เพื่อให้ข้อสอบ O-net ของ สทศ.สอดคล้องกับกระบวนการเรียนการสอนของ สพฐ.

นอกจากนั้น จะมีการเน้นเรื่องการแนะแนวด้วย ซึ่งการแนะแนวก็จะเริ่มทั้งในระดับปฐมวัย ปฐมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ในรูปแบบของครูที่ปรึกษา โดยในแต่ละระดับวัยของเด็ก จะมีรายละเอียดของการแนะแนวที่แตกต่างกันออกไป ส่วนในเรื่องของการแนะแนวการเรียนว่าเด็กควรจะไปทางไหน เพื่อให้เด็กสามารถค้นพบความถนัดของตัวเอง ว่าควรจะเรียนต่อที่ไหน อย่างไร โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นชั้นปีที่ ๑ เป็นอย่างช้า ซึ่งภาพรวมทั้งหมดจะเป็นรูปธรรม ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ในทุกโรงเรียนของ สพฐ. โดยจะให้โรงเรียนดี ๓ ระดับ จำนวน ๑๐,๐๐๐ โรง เป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนา เพื่อขยายผลในอัตราเฉลี่ย ๑ : ๓ ในปี ๒๕๕๔ ต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: