วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แนวทางพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือน

รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้มอบเป็นนโยบายให้มีการอบรมพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือนใน ศธ. ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีความเป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกัน โดยมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จะไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดเสนอให้พิจารณาภายใน ๒ สัปดาห์ ดังนี้

  • จัดทำหลักสูตรนักบริหารการศึกษาระดับสูง ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง (นบส.) ของ ก.พ.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

  • จัดทำหลักสูตรการเข้าสู่ตำแหน่งที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และเป็นเอกภาพทั้งระบบ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะทำทั้งหลักสูตรการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ขณะเดียวกันก็ให้ไปพิจารณาว่าการเข้าสู่ตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนระดับผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการสำนัก จำเป็นจะต้องมีหลักสูตรการอบรมเฉพาะหรือไม่ เพราะยังมีความลักลั่นกันอยู่ ระหว่างข้าราชการพลเรือนที่สังกัดมหาวิทยาลัยและข้าราชการพลเรือนในแต่ละองค์กรหลัก ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ

  • จัดทำหลักสูตรและกฎเกณฑ์ในการจัดอบรมเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ว่าจะจัดหลักสูตรในระดับใด เช่น ระดับเชี่ยวชาญพิเศษ หรือระดับเชี่ยวชาญ เป็นต้น

  • จัดทำหลักสูตรในเรื่องของการอบรมพัฒนาเพื่อต่อใบอนุญาตวิชาชีพครู

  • จัดทำหลักสูตรการอบรมพัฒนาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งหลักสูตรอบรมพัฒนาทั่วไป เช่น หลักสูตรอบรมสถานศึกษา ๓ ดี, หลักสูตรอบรมเพื่อบริหารจัดการสถานศึกษา ๓ ดี เป็นต้น

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่าสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) จะมีบทบาทและมีคุณภาพมาตรฐานที่ชัดเจนขึ้น เพราะจะเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือนใน ศธ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นอบรมพัฒนาคุณภาพครู อันเป็นหัวใจสำคัญใน ๔ ใหม่ของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งจำเป็นต้องมีสถาบันและบุคลากรที่มีศักยภาพมารองรับ รวมทั้งการจัดทำหลักสูตร นบส. ด้านการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ที่จะครอบคลุมทุกองค์กรใน ศธ.

เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้รายงานผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ประเมินผลงาน ๑ ปี รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปใน ๑๑ จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ จำนวน ๑,๖๖๐ คน เป็นเพศชายร้อยละ ๔๘.๖ เพศหญิงร้อยละ ๕๑.๔ เมื่อวันที่ ๑๑ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ มีผลปรากฏในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ

  • ผลงานหรือโครงการของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด คือ โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๓ รองลงมาคือ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ ร้อยละ ๑๑.๓ และโครงการไทยเข้มแข็ง สร้างความสามัคคี ร้องเพลงชาติ ร้อยละ ๑๑.๒ ตามลำดับ

  • บุคคลในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่ประชาชนชื่นชอบการทำงานมากที่สุด อันดับที่ ๑ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) ร้อยละ ๓๖.๙ รองลงมาคือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รมว.ศึกษาธิการ ร้อยละ ๖.๒ และอันดับ ๓ คือ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.กระทรวงการคลัง ร้อยละ ๖.๑

ไม่มีความคิดเห็น: