วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ ๕๙

รมว.ศธ.กล่าวที่อุบลราชธานีถึงข้อสรุป "โรงเรียนดี ๓ ระดับ" ว่าจะมีทั้งสิ้น ๑๐,๐๐๐ โรงเรียน คือ โรงเรียนดีระดับสากล ๕๐๐ โรง โรงเรียนดีประจำอำเภอ ๒,๕๐๐ โรง และโรงเรียนดีประจำตำบล ๗,๐๐๐ โรง โดยมีหลักการสำคัญคือ ๑) ต้องมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ๒) มีระบบบริหารจัดการที่เน้นการมีส่วนร่วมจากองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันศาสนา ผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนเข้ามาช่วยโรงเรียน ๓) ต้องมีปัจจัยพื้นฐาน ที่มีความชัดเจนแล้วว่าจะต้องมีอาคารสถานที่ มีภูมิทัศน์พร้อม มีห้องสมุด ๓ ดี (หนังสือดี-บรรยากาศดี-บรรณารักษ์ดี) มีคอมพิวเตอร์ในสัดส่วน ๑ เครื่องต่อนักเรียน ๑๐ คน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างน้อย ๒ เมกะบิต

นอกจากนั้น จะมีเกณฑ์ตัวชี้วัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนดีประจำตำบล จะต้องมีครูที่สอนตรงตามวิชาเอกหรือได้รับการพัฒนาจนมีความพร้อมที่จะสอนตรงตามวิชาที่เด็กเรียนอย่างน้อยใน ๕ กลุ่มสาระหลัก โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการ ๔,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนโรงเรียนดีประจำอำเภอ จะใช้เกณฑ์เช่นเดียวกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน และโครงการ ๑ อำเภอ ๑ โรงเรียนในฝัน และจะต้องมีครูที่ตรงตามวิชาเอกหรือได้รับการพัฒนาขึ้นมาครบทั้ง ๘ กลุ่มสาระ โดยตั้งงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนดีประจำอำเภอรวม ๑,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับโรงเรียนดีระดับสากลนั้น สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ จะมีการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษก่อน เพราะต้องยอมรับความจริงว่าจะมีการสอนครบทุกรายวิชายังไม่ได้ จึงจะเริ่มต้นนับหนึ่งเฉพาะโรงเรียนและบางห้องเรียนที่มีความพร้อมและขยายฐานออกไป โดยจะดูความพร้อมว่า โรงเรียนใดมีความพร้อมที่จะดำเนินการก่อน และพร้อมกี่ห้องเรียน โดยมีการจัดทำแผนชัดเจนว่าภายในระยะเวลากี่ปีจะทำให้ครบ ๕๐๐ โรง สำหรับเกณฑ์ของการเป็นผู้บริหารโรงเรียนระดับสากล ได้มอบเป็นนโยบายไปแล้วว่า จะต้องมีศักยภาพ ไม่ใช่ใครก็ได้ มีการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนอย่างมีระบบและชัดเจน โดยใช้งบฯดำเนินการ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในต้นปีการศึกษา ๒๕๕๓ และถือเป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนครั้งใหญ่ของ ศธ.

ในโอกาสที่ รมว.ศธ.ได้เดินทางไป จ.อุบลราชธานีครั้งนี้ ได้ร่วมบันทึกเทปรายการ Tutor Channel ณ หอประชุมไพรพยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีนักเรียนจาก จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ จำนวน ๑๖๒ โรงเรียน เข้าร่วมรับฟังในรายการติวเข้มเติมเต็มความรู้จำนวน ๒,๕๐๐ คน

หลังจากนั้นได้เป็นประธานเปิด ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่ง รมว.ศธ.ได้กล่าวย้ำในพิธีเปิดด้วยว่า รัฐบาลและ ศธ.ยุคนี้ได้ให้ความสำคัญกับการทุ่มเทงบประมาณการศึกษาเป็นอย่างมาก แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของภาวะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ ศธ.ก็ยังได้รับงบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง สูงถึง ๓๕๔,๐๐๐ ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณ SP2 เพิ่มเติมในปี ๒๕๕๓ อีก ๔๕,๐๐๐ ล้านบาท โดยเฉพาะภาคอีสานได้รับงบประมาณ SP2 มากถึง ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น ๑ ใน ๓ ของงบฯ SP2 ที่ ศธ.ได้รับ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญและเห็นได้ชัดเจนว่า การให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษา เพราะการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคนที่มีคุณภาพและการพัฒนาประเทศชาติ.

ไม่มีความคิดเห็น: