วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

หวั่นปรับโครงสร้างศธ.ทำปฏิรูปศึกษาล่มรอบ 2

นายเพิ่ม หลวงแก้ว ประธานเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.พ.บ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อ เร็ว ๆ นี้ กรรมการเครือข่ายฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาทุกสังกัดทั้ง 4 ภูมิภาค ได้หารือกันถึงแนวคิดการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีมติเห็นด้วยกับผู้บริหารทั้ง 5 องค์กรหลักของ ศธ.ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ใหม่ โดยให้มีฐานะเป็นทบวงภายใต้ ศธ.เพราะโครงสร้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้มีปัญหาการบริหารงานบุคคล ถึงแม้จะยึดหลักการกระจายอำนาจ แต่ก็เป็นการกระจายอำนาจที่ติด ๆ ขัด ๆ โดยอำนาจจะไปกระจุกอยู่ที่เขตพื้นที่การศึกษา

ประธาน ค.พ.บ.ท. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ควรทบทวนปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกันทั้งระบบ ไม่ใช่แก้เฉพาะส่วนที่กำลังแยกการบริหารงานระหว่างประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพราะตราบใดที่ไม่แก้ทั้งระบบก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ อีกทั้งยังเห็นควรเสนอให้มีการพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกระดับ โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษาอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของการประเมินตามหลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ เพื่อให้คนที่ได้วิทยฐานะเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่โรงเรียนและนักเรียน จริง ๆ และในส่วนของการเยียวยาผู้ที่เข้ารับการประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่า โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาที่ขอเป็นผู้อำนวยการเชี่ยวชาญแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ การประเมินผลงานวิชาการกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ประธานเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาฯ ของแต่ละภาคจะนำข้อสรุปไปหารือกับสมาชิกก่อนสรุปเป็นข้อเรียกร้องของ ค.พ.บ.ท. เสนอต่อ รมว. ศธ.คนใหม่ต่อไป

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะการ บริหารงานยังอยู่ภายใต้ศธ. ซึ่งในการหลอมรวมทบวงมหาวิทยาลัยเข้ากับศธ.ที่ผ่านมานั้นตนก็เห็นว่าดี อาทิ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับรู้ข้อมูลและปัญหาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) มากขึ้น ทำให้รู้ว่าอุดมศึกษาจะต้องปรับบทบาทต่อไปอย่างไร ดังนั้นก่อนจะปรับเปลี่ยนอย่างไรต้องมีการศึกษาข้อดี ข้อเสียให้ชัดเจนก่อน

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างศธ. ควรใช้การศึกษาวิจัยมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจว่าทำเพื่อใคร เพื่อประชาชน นักเรียน หรือทำเพื่อข้าราชการ เพราะการปฏิรูปการศึกษารอบแรก ก็ถูกวิจารณ์หนักว่าเน้นแต่เรื่องปรับโครงสร้าง จนต้องปฏิรูปการศึกษาในรอบที่สอง ซึ่งจะเน้นปฏิรูปที่การเรียนรู้และคุณภาพการศึกษา ดังนั้นหากหยิบยกเรื่องโครงสร้างขึ้นมาอีกก็น่าเป็นห่วงว่าทุกคนจะสนใจแต่ เรื่องโครงสร้าง เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวจนไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ.

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ 18 มกราคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น: