วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒

รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.จะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ ตามนโยบายที่ได้คิดใหม่ เพื่อให้สานต่อ และสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะนำไปกลั่นกรอง และดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จะให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อไป ดังนี้

๑. การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ ขอให้ทุกส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมดได้ร่วมกันในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ ให้มีการประชาสัมพันธ์ขยายผล ตลอดถึงขอความร่วมมือในการที่จะให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ นั้น เน้นการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต โดยเน้นที่คุณภาพผู้เรียน เน้นที่โอกาสที่ผู้เรียนควรจะได้รับอย่างเสมอภาค เน้นในเรื่องของการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการที่จะดำเนินการในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่จะต้องดำเนินการในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยมีกิจกรรมหลักสำคัญที่จะต้องเริ่มต้นในนโยบายข้อนี้ คือ จะจัดทำสมัชชาปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม ๒๕๕๓

๒.โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ อย่างต่อเนื่องโดยมีการปรับปรุงกระบวนการที่จะดำเนินการในการที่จะให้นักเรียนและผู้ปกครอง ได้รับผลประโยชน์จากโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน นักเรียนจะต้องมีความพร้อมก่อนที่จะเปิดภาคเรียน ซึ่งให้หน่วยราชการที่ควบคุม กำกับ โรงเรียนทุกส่วน รวมทั้งในส่วนที่ไม่อยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการด้วย แต่จะขอความร่วมมือให้โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป

๓.โรงเรียนดีประจำตำบล โครงการนี้จะมียุทธศาสตร์ในการที่จะไปสร้างโรงเรียนดีให้เกิดขึ้นในตำบลห่างไกลในชนบท ภายใต้การกำกับของชุมชน โดยมีกระบวนการที่องค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยการเริ่มต้นที่จะทำประชาคมในตำบลที่มีโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ห่างไกล ให้มาร่วมกันจัดการศึกษาในโรงเรียนดีประจำตำบล โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการรับ-ส่ง นักเรียนในตำบลมาที่โรงเรียน รับผิดชอบดูแลในเรื่องของอาหารกลางวัน เป็นต้น โดยจะดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนที่ทันสมัย มีห้องสมุด ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องอินเทอร์เน็ต สระว่ายน้ำ และมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีปัจจัยในการบริหารจัดการโรงเรียนให้มีความสมบูรณ์ โดยมอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษาไปดำเนินการในเรื่องนี้ ถ้าหากว่าเขตพื้นที่การศึกษาใดสามารถคัดเลือกตำบลได้แล้ว ก็จะดำเนินการทำ MOU ร่วมกัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงมหาดไทย ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งถือเป็นการเปิดทศวรรษใหม่ของการปฏิรูปการศึกษาที่จะปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ร่วมมือกันกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาโดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือจะเป็นการลดภาระด้านงบประมาณให้กับผู้ปกครองในการจัดการศึกษาด้วย

๔. โครงการพัฒนาการศึกษา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะแสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการดำเนินการจัดการศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการศึกษา ทั้งสายสามัญและด้านศาสนาที่จะต้องควบคู่กันไป โดยการส่งเสริมให้การจัดการศึกษาของสถาบันปอเนาะ ได้มีความเข้มแข็ง ตลอดถึงการส่งเสริมครูฟัรดูอีน ตลอดถึงครูที่เป็นอุสตาซต่างๆ ให้ได้รับการพัฒนา โดยจะทุ่มเทโดยใช้การศึกษาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจ และสร้างสันติสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

๕. กศน.ตำบล จะขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะร่วมกันประสานให้มีการจัดตั้งกศน.ตำบล ภายในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ และให้ กศน.ตำบล มีศูนย์ ICT มีอินเทอร์เน็ตสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูกให้กับพี่น้องประชาชน ตลอดถึงจะเป็นแหล่งที่ฝึกอาชีพ และแหล่งพัฒนาความเข้าใจ ความปรองดอง ความสมานฉันท์ ให้เกิดขึ้นในชาติด้วย

๖. Teacher Channel ที่จะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายที่รับผิดชอบครูต้นแบบต่างๆ เพื่อที่จะให้ครูได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดถึงวิธีการสอน กระบวนการสอนที่ดี และสามารถนำไปใช้ได้ในการสอนจริงในห้องเรียน ตลอดถึงจะดำเนินการ Tutor Channel ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว โดยยึดหลักว่า คุณภาพนั้นต้องเกิดจากห้องเรียน แต่จะเติมเต็มทุกโอกาส ทุกสถานที่ โดยการเพิ่มบรรจุลงในเว็บไซต์ เพื่อให้นักเรียนที่พลาดโอกาสจากการดูโทรทัศน์ สามารถดูได้จากทางอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา

๗. ผลักดัน พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินวิทยฐานะ เนื่องจากมีข้าราชการครูจำนวนมากยังไม่ได้ปรับโครงสร้างเงินเดือน ให้เป็นไปตามการปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการอื่นๆ ซึ่งได้ปรับมาแล้ว เนื่องจากเงินเดือนและวิทยฐานะของครูนั้นผูกติดกับพระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้เร่งรัดเรื่องนี้เพื่อให้ครูได้รับสิทธิประโยชน์ และเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครู นอกจากนั้นยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปดูแลเรื่องเงินวิทยพัฒน์ และดูแลเรื่องกองทุนพัฒนาครู เพื่อดำเนินการในการพัฒนาครูอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ขอให้มีการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อพัฒนาชีวิตครู ให้ครูใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยใช้กระบวนการจัดตั้งเครือข่ายในรูปแบบองค์การมหาชน ที่เป็นเครือข่ายพัฒนาครู เพื่อให้ครูได้พัฒนาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ตลอดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงต่อไป

๘. สนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อจะส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น ที่สำคัญคือมุ่งเน้นที่จะทำงานร่วมกันในการที่จะผลิตครูวิทยาศาสตร์ และครูคณิตศาสตร์ เพื่อที่จะให้ครูเหล่านี้ได้เป็นพลังขับเคลื่อนในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดผลในการที่จะให้นักเรียนของเราได้โอกาสมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และจะส่งเสริมต่อยอดที่จะให้นักเรียนของเราได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในโรงเรียนลักษณะพิเศษคือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และมีการส่งเสริมให้จัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในทุกภูมิภาค ถือเป็นนโยบายใหม่ที่จะต้องขับเคลื่อนภายใต้การระดมพลังสมองที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน

รมว.ศธ. ยังได้กล่าวถึงงานที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาการศึกษา ซึ่งเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะแบ่งเป็นแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด, การแต่งตั้งผู้แทนครูใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา, การแก้ไขปัญหาสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะการปรับปรุงองค์การค้าของคุรุสภา, โครงการตามพระราชดำริต่างๆ, โครงการ ๓ ดี ๔ ใหม่, การอบรมครูทั้งระบบเพื่อสร้างครูพันธุ์ใหม่ โดยมีศูนย์ผลิตและพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ, โครงการส่งเสริมการอ่าน โดยรณรงค์ให้มีห้องสมุดในทุกภาคส่วน, กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่ง ศธ.จะดูแลเพื่อต่อยอด ให้ผู้ที่เรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ แต่ขาดทุนทรัพย์และประสงค์จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปี ๒๕๕๓ ให้ได้รับเงิน กยศ. เพิ่มมากขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น: