วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การรับรองปฏิญญาแอดดิส อบาบา (Addis Ababa Declaration)

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีปิดการประชุมระดับสูงด้านการศึกษาเพื่อปวงชน เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ African Union Conference Centre กรุงแอดดิส อบาบา ประเทศเอธิโอเปีย

นับตั้งแต่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชนในปี ๒๕๓๓ รัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๔๒ ได้เริ่มปฏิรูปการศึกษารอบที่ ๑ ระหว่างปี ๒๕๔๒–๒๕๕๑ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา และในปี ๒๕๕๒ รัฐบาลไทยได้ริเริ่มโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งขจัดอุปสรรคปัญหาด้านงบประมาณจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เด็กในชนบทมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น สามารถเข้าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน ๑๒ ล้านคน

ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ และ ๑๐ โดยได้ยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อมุ่งสู่สังคมความรู้ เน้นการพัฒนาทักษะในการพึ่งตนเองในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนั้น มีเป้าหมายในการสร้างสังคมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพให้คนไทยทุกคน โดยเน้นคุณภาพ โอกาสและการมีส่วนร่วม ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพครูและการเตรียมนักเรียนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและแรงงานด้วย

รมว.ศธ.เปิดเผยภายหลังการประชุมระดับสูงด้านการศึกษาเพื่อปวงชน ว่าได้มีการรับรองปฏิญญาแอดดิส อบาบา (Addis Ababa Declaration) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของยูเนสโกได้ช่วยดูแลเด็กด้อยโอกาสจำนวนกว่า ๕๖ ล้านคน ประกอบด้วยเด็กชายขอบ เด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว เด็กที่ประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ตลอดจนปัญหาในบางพื้นที่และปัญหาทางด้านศาสนา ฯลฯ ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องไปจัดทำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ให้ได้รับการศึกษา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกเห็นความสำคัญของงบประมาณด้านการศึกษา ถึงแม้จะเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้ดำเนินการในประเด็นนี้มาตั้งแต่ปฏิญญาจอมเทียนในปี ๒๕๓๓ และมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชายขอบ หรือเด็กในพื้นที่ที่มีปัญหาได้รับการศึกษามากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาเด็กออกกลางคัน เด็กที่ต้องติดตามพ่อแม่ที่มีอาชีพรับจ้าง ผู้ปกครองมีปัญหาสุขภาพหรือโรคเอดส์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องไปทำข้อมูลรายละเอียดเพื่อให้สอดรับกับปฏิญญาแอดดิส อบาบา

ที่ประชุมได้รับรองการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับสูงด้านการศึกษาเพื่อปวงชนในปี ๒๕๕๔

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังได้กล่าวถึง ที่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกได้ให้ความสำคัญในกรณีฉุกเฉินจากอุบัติภัยหรือเหตุการณ์ใดๆ ที่กระทบต่อการศึกษาของเยาวชนตลอดจนผู้ใหญ่ ซึ่งต้องมีการเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรณีเฮติ ที่ยูเนสโกได้เชิญชวนประเทศสมาชิกให้ช่วยเหลือ ในส่วนของไทยก็ได้สนับสนุนด้านการเงิน วัสดุครุภัณฑ์ การส่งหน่วยแพทย์จากมหาวิทยาลัยของรัฐไปช่วยเหลือ ซึ่ง รมว.ศธ.ได้เสนอบทเรียนในระยะยาวจากการที่ไทยประสบภัยสึนามิ โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้น และใช้ทรัพยากรทางการศึกษาไปช่วยเยียวยานักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยดังกล่าวด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: