วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการกล่องวิเศษปี ๒ "แผนดีกล่องมาก"

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัวโครงการกล่องวิเศษ "แผนดีกล่องมาก" จัดโดย บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกะทิชาวเกาะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ให้ความสนใจกับเรื่องต่างๆ ใน ๓ ประเด็น ดังนี้ ๑) ประชาธิปไตย เราต้องสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคม ที่จะร่วมสร้างสังคมประชาธิปไตย เพราะเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ทางความคิดเห็น มีความเสมอภาคและมีภราดรภาพ ที่ทำให้ผู้ที่แข็งแรงมีการเอื้ออาทรต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า และตัดสินปัญหาทางสังคมด้วยวิธีการแห่งปัญญาในการแก้ปัญหา ๒) สิทธิมนุษยชน โลกและสังคมยุคปัจจุบันนี้ทุกคนต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นพลเมืองของโลกอย่างภาคภูมิใจเพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะต้องให้ความเคารพต่อคนที่ด้อยโอกาส คนชายขอบ คนที่แตกต่างทางเชื้อชาติ และต้องปฏิบัติต่อเพศ ต่อวัย ต่อสถานที่ของบุคคลให้เหมาะสมในหลักสิทธิมนุษยชน ที่เรียกว่า Human Rights นี้เป็นหลักสำคัญประการที่สอง ๓) สิ่งแวดล้อม เราได้ใช้ทรัพยากรของโลกไปตั้งแต่วันที่เราเกิดมา และวันที่เราจากไป เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมาช่วยกันตระหนักว่า เมื่อเราได้ใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก เราจะทำอย่างไรที่จะตอบแทนบุญคุณสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้เราสามารถอยู่ในโลกอย่างมีความสุขต่อไป และเราก็ควรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นกระทรวงหลัก ที่จะต้องรับผิดชอบในการสร้างความตระหนักรู้ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งในเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องสิ่งแวดล้อม และได้ขอบคุณบริษัท อำพลฟูดส์ฯ ที่ได้คิดนวัตกรรมในการที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับนักเรียน นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการที่จะ Recycle ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากทุกคนได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจตรงกันว่า ถ้าไม่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้สิ่งแวดล้อมของเราเป็นประโยชน์ และเป็นสิ่งที่น่าอยู่กับคนรุ่นหลังได้

ที่สำคัญทุกวันนี้เราพบกับความเป็นจริงว่า โลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน ถ้าหากว่าสังคมโลกของเราไม่ยอมรับต่อภัยนี้ ก็จะเกิดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อโลก ต่อบ้านเมืองของเรา เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ความเป็นอยู่ของสรรพสิ่ง หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นถ้าเราได้เริ่มต้นกับตัวเราเองก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง

จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องมาสร้างความตระหนักรู้และทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นความจำเป็น และขอให้ สพฐ. ได้รับแนวคิดนี้เพื่อไปขยายผลในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: