วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สกศ. วิจัยหากระบวนการและปัจจัยในการพัฒนาการศึกษา

รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ กล่าวเปิดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง กระบวนการและปัจจัยการส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยได้ยกประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ว่า มีโจทย์ใน 10 ปีข้างหน้า เกี่ยวกับเรื่อง

1. คุณภาพของคนไทยและคุณภาพของการศึกษาโดยรวม
2. คุณภาพของครู
3. คุณภาพของสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
4. คุณภาพของการบริหารจัดการ


โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะว่ามีประชากรผู้เกี่ยวข้องทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง ฯลฯ มากกว่าระดับอาชีวะและอุดมศึกษา แต่ปัจจุบันมีโรงเรียนไม่น้อยที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และคะแนนสอบของเด็กเมื่อเฉลี่ยทั้งประเทศปรากฏว่าต่ำมาก ในขณะที่เรากำลังปรับตัวเพื่อก้าวสู่กระแสโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งปรับปรุงการศึกษา โดยพยายามหาข้อเท็จจริงว่าปัญหาคืออะไรและทางแก้มีกี่หนทาง เช่น โรงเรียนขนาดเล็กนั้นเราจะบริหารจัดการอย่างไร เรื่องคุณภาพของครู บุคลากรทางการศึกษา เป็นกลุ่มซึ่งได้รับคำวิพากษ์วิจารอยู่มาก เราจะเร่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของครูได้อย่างไร และเรื่องของความสัมพันธ์ของโรงเรียนขั้นพื้นฐานกับองค์กรปกครองในระดับต่างๆ จะทำอย่างไรให้เข้ามามีส่วนร่วมในมิติต่างๆ ได้ ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องหาทางแก้ไขและนำไปสู่การปฏิบัติ ต่อไป

ทางด้าน ดร.สุวิมล ว่องวานิช คณะผู้วิจัย กล่าวว่า การวิจัยในครั้งนี้เพื่อดูว่าปัญหาของโรงเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีปัจจัยใดหรือใครเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อจะได้นำมาจัดทำแผนและนโยบาย จากการวิจัยโรงเรียน ICU ระดับพอใช้และปรับปรุงที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 64 ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาที่ตัวผู้เรียน โดยเฉพาะมาตรฐานที่ 4,5,6 ซึ่งเป็นเรื่องของสติปัญญาหรือทางด้านวิชาการ ด้านผู้บริหารมีปัญหาที่ 12 และ13 ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ การพัฒนาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้านครูพบปัญหาในมาตรฐานที่ 8 คือ การขาดแคลนครูมากกว่าเรื่องของคุณภาพของครู และพบว่าปัญหาทางคณะวิจัยได้ใช้วิธีวิจัยแบบผสม (mixed method research) แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ระยะแรกใช้การวิจัยเชิงปริมาณ และระยะที่สองใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยในระยะที่ 1 ประกอบด้วยโรงเรียนที่มีผลการประเมินรอบแรกอยู่ในระดับปรับปรุง จำนวน 596 โรง และโรงเรียนที่มีผลประเมินในระดับพอใช้/ดี โดยการสุ่มจาก 4 ภูมิภาค จำนวน 1,500 โรง ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาคิดเป็นร้อยละ 59.33 ระยะที่สอง กลุ่มตัวอย่างได้แก่ โรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษาจำนวน 43 โรง จาก 16 จังหวัด ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้แทน ครูอาจารย์ กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ซึ่งผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1.โรงเรียนเร่งรัดการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงจากปรับปรุงเป็นระดับสูงขึ้น มีมากกว่าร้อยละ 80 และร้อยละ 70 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระดับปรับปรุงจนเป็นระดับดีขึ้นไป 2.โรงเรียนเร่งรัดการพัฒนาส่วนใหญ่ปรับปรุงการดำเนินงานโดยการพัฒนาครู รองลงมาคือการคิดค้นวิธีการพัฒนาผู้เรียนด้วยวิธีการแนวใหม่ และการพัฒนาหลักสูตร ส่วนด้านวิธีการพัฒนาการบริหารจัดการ พบว่า ส่วนใหญ่ใช้วิธีการบริหารแบบมีส่วนร่วม 3.กลุ่มโรงเรียนปกติ และกลุ่มโรงเรียนเร่งรัดการพัฒนา มีการพัฒนาโรงเรียนโดยการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ครู กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้ร่วมพัฒนาอย่างจริงจัง

สำหรับข้อเสนอแนะของคณะผู้วิจัย คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนครู โดยการประสานความร่วมมือกับสถาบันผลิตครูจัดทำแผนความต้องการกำลังครู ควรมีระเบียบหลักเกณฑ์การขอโอน-ย้ายของผู้บริหารและครูให้ชัดเจน การจัดสรรงบประมาณรายหัวสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ควรพิจารณาสภาพบริบทของโรงเรียนประกอบด้วย ไม่ยึดเกณฑ์การจัดสรรที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผลักดันนโยบายการโอนสถานศึกษาไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) วางระบบการจัดสรรงบให้โปร่งใส และเสมอภาค กระทรวงศึกษาธิการควรกระจายอำนาจในการคัดเลือกครูให้กับโรงเรียนหรือชุมชนในพื้นที่ และมีระบบสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูที่เสียสละในโรงเรียนเป็นพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการควรร่วมมือกับ อปท. ในการพัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ทั้งกลุ่มเด็กปกติและเด็กพิเศษ เพื่อทำให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: