วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กกอ.จี้ปรับกรอบคุณวุฒิฯ ผลิตครู ยกฟินแลนด์ต้นแบบปั้นแม่พิมพ์

กกอ.สั่งทบทวนกรอบคุณวุฒิฯ ศึกษาศาสตร์ หลังวิธีผลิตครูยังล้าสมัย ยกฟินแลนด์ต้นแบบปั้นแม่พิมพ์ ระบุจะเป็นครูสาขาไหนก็ต้องจบสาขานั้นโดยเฉพาะ ปรับศึกษาศาสตร์เป็นเพียงภาควิชาหนึ่งในคณะต่างๆ เท่านั้น รับต้องยอมเจ็บปวดหากใช้ฟินแลนด์เป็นแม่แบบ

ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยผลการประชุม กกอ.เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมขอให้คณะทำงานจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่เสนอร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ พ.ศ... ไปทบทวนร่างประกาศดังกล่าวใหม่เนื่องจากกกอ.เห็นว่ากรอบที่คณะทำงานฯ นำเสนอมานั้นยังไม่ตอบโจทย์การผลิตครูที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งที่ผ่านมาภาพของคนที่เป็นครูยังล่าสมัยทำให้ตามเด็กไม่ทัน ดังนั้นคนที่จะเป็นครูในอนาคตจะต้องเป็นครูที่มีความทันสมัยในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามงานวิชาการที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยขอให้คณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติกลับไปหาแนวทางผลิตครู ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ครูที่มีความทันสมัย เชี่ยวชาญในรายวิชาที่สอนและต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

“วิธีการเรียนการสอนที่คณะกรรมการคุรุศึกษาฯ เสนอมายังเป็นรูปแบบเดิมๆ เรียนวิชาเดิมและสอนโดยคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เหมือนเดิม ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ประเทศฟินแลนด์คนที่จะมาเป็นครูในสาขาใดจะต้องจบในวิชาเอกนั้นโดยเฉพาะ เช่น คนเป็นครูวิชาวิทยาศาสตร์ก็ต้องจบคณะวิทยาศาสตร์ เพราะเขายุบคณะศึกษาศาสตร์มาเป็นเพียงภาควิชาหนึ่งในคณะต่างๆ เท่านั้น ซึ่งกรณีขอประเทศฟินแลนด์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และถ้าหากคณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ จะต้องเป็นอย่างฟินแลนด์บ้าง ผมเห็นว่าต้องยอมเจ็บปวด ทั้งนี้ที่ประชุมให้เวลา 6 เดือนในการทบทวนก่อนนำมาหารือร่วมกันอีกครั้ง” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า แต่ละประเทศมีวิธีการผลิตครูที่แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยน่าจะดูรูปแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยนำมาปรับให้เข้ากับการเรียนการสอนของบ้านเรา ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีความรู้ครบถ้วนตามหลักสูตร ดังนั้นการพัฒนา TQF คือกระบวนการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นต้น

อย่างที่ก็ตามสำหรับทางคณะศึกษาศาสตร์ เสนอกลับมาว่าควรไปทบทวนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ใหม่เนื่องจากเห็นว่าการเรียนการสอนยังไม่ผ่านกระบวนการดังกล่าวซึ่งคงต้องดูให้รอบด้าน

“จากที่ได้ไปดูงานที่ประเทศฟินแลนด์พบว่าการผลิตครูของเขาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งในระดับประถมต้นครูคนเดียวจะสามารถสอนได้ทุกวิชาแต่ระดับประถมปลายจนถึงมัธยมปลายจะแยกเป็นรายวิชา โดยคนที่จะมาเป็นครูจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่สอน ซึ่งแนวทางนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะจะทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ” เลขาฯ กกอ. กล่าว

ที่มา ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: