วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ (กขป.) ครั้งที่ ๑

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) ซึ่งกำหนดไว้ตาม "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒" รวมทั้งยังได้รับทราบสรุปผลการสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๙-๑๐ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมทั้งสรุปประเด็นการสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา "สี่ใหม่" อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการกำหนดเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๖๑ ดังนี้

การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระวิชาหลักเกินกว่า ๕๕% มีการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาที่ใช้งานได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ บัณฑิตมีคุณภาพระดับสากล และเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ

การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ ผลิตครูยุคใหม่ให้ได้เฉลี่ยอย่างน้อยปีละ ๑๒,๐๐๐ คน และสอดคล้องกับอัตราเกษียณของข้าราชการครู นอกจากนี้ครูประจำการทุกคนได้รับการพัฒนาตรงตามวิชาที่สอนและอย่างเป็นระบบอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ส่วนภาระงานสอนโดยเฉลี่ยไม่เกินสัปดาห์ละ ๑๘ ชั่วโมง

การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนยุคใหม่ สถานศึกษาทั้ง ๑๐๐% ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สมศ. พร้อมกับมีโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ดีที่ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างน้อยตำบลละ ๑ โรงรวม ๗,๔๐๙ โรง มีแหล่งเรียนรู้ที่ได้มาตรฐานทั่วถึงทุกตำบล ๗,๔๐๙ แห่ง และมีค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๑๒ เล่มต่อคน

การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ปี สัดส่วนผู้เรียนระหว่างสถานศึกษารัฐและเอกชนเป็น ๖๓:๓๗ สัดส่วนผู้เรียนสังกัด อปท.เพิ่มขึ้นจาก ๑๑.๖% ในปี ๒๕๕๑ เป็น ๒๐% ของจำนวนผู้เรียนทั้งหมด และมีโรงเรียนขนาดเล็กลดลงเหลือ ๕๐% จากปัจจุบันที่มีโรงเรียนขนาดเล็ก ๑๓,๙๑๕ โรง

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายจากการอภิปรายของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คือ ๑) พัฒนาผู้เรียนจนเต็มตามศักยภาพ ให้คิดเป็นทำเป็น มีความรู้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เป็นผู้มีจริยธรรมและมีความสุขกับชีวิต ๒) ทำให้ครูเป็นครูเพื่อศิษย์ที่มีคุณภาพและยั่งยืนในวิชาชีพได้อย่างสง่างาม ๓) สร้างนิสัยใฝ่รู้และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เกื้อหนุนโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ๔) ปรับวิธีการบริหารจัดการศึกษา โดยใช้เขตพื้นที่การศึกษาหรือเครือข่ายสถานศึกษาเป็นกลไกรับผิดชอบความสำเร็จและความล้มเหลว

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการใน กนป.ใน ๔ ด้าน คือ ด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ ด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และคณะอนุกรรมการจัดทำแผนงบประมาณ

ที่ประชุมรับทราบการจัดเตรียมการประชุมสมัชชาขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้แนวคิด "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๖-๗ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดเพื่อชูธงการปฏิรูปการศึกษาในเวลา ๙.๐๐ น. ซึ่งในงานนี้มีนิทรรศการต่างๆ ที่น่าสนใจคือ นิทรรศการพระบารมีปกเกล้า ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา รวมทั้งนิทรรศการเรียนฟรีฯ, เล่าประสบการณ์ดี, ปีนี้และปีต่อไป, ๘ นโยบาย รมว.ศธ. รวมทั้งการเสวนา การแสดงต่างๆ เป็นต้น.

ไม่มีความคิดเห็น: