วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ศธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองสู่สถานศึกษา

รมว.ศธ.กล่าวว่า ผอ.สพท.จะเป็นขุนพลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังโดยมีเป้าหมายคือ การรวมใจและบริหารจัดการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง และการศึกษาเป็นธงนำในการขับเคลื่อนพัฒนาทุกด้าน ขอให้นำนโยบายของ รมว.ศธ.ทั้ง ๘ ข้อ มาดำเนินการพร้อมกันแบบเป็นองค์รวม จึงจะสามารถนำนโยบายไปสู่เป้าหมายได้

ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ต้องเดินหน้าพร้อมกัน เพื่อสร้างกระแสการขับเคลื่อนต่อสังคมในวงกว้าง ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เป็นครั้งแรก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในการจัดสมัชชาปฏิรูปการศึกษาระหว่างวันที่ ๖-๗ มีนาคม ๒๕๕๓ จะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง Model ใหม่ ในการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นเป็นกรอบความคิด ผู้เข้าร่วมงานจะได้เห็นถึงผลสำเร็จและสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป

โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของบางสถานศึกษาที่ไปสร้างความรู้สึกแก่ผู้ปกครองว่าเป็นการแจกหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ แต่โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี เป็นการสร้างความเสมอภาคและโอกาสให้แก่ผู้เรียน รวมถึงสร้างจิตสำนึกว่าการที่ได้รับโอกาสและความเสมอภาคนี้เป็นภาษีของประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน และปวงชนเพื่อการศึกษา จึงขอให้มีการสื่อสารต่อสาธารณชนให้เข้าใจและร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ๑ ปี ที่ผ่านมามีจุดบกพร่องอะไรบ้าง หรือควรจะปรับปรุงในส่วนใด

โรงเรียนดีประจำตำบล อยู่ภายใต้การกำกับของชุมชนและมีปัจจัยนำเข้าที่พร้อม เป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ.กับกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องทำประชาคมร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ในพื้นที่ด้อยโอกาสในชนบท นอกจากนี้จะมีการทำ School Mapping ในแต่ละตำบล ซึ่งจะทำให้ทราบถึงอัตราประชากร คนวัยทำงาน จำนวนเด็กที่จะเกิดใหม่ ฯลฯ ต้องมีการบริหารโดยข้อมูลที่ชัดเจน (School–based Management) จึงต้องรีบทำประชาคม, กระจายอำนาจโดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีส่วนร่วมในการรับ–ส่งนักเรียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะโรงเรียนต้องอยู่ในกำกับของชุมชน

การศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความแตกต่างทางศาสนา และวิถีชีวิต จึงต้องใช้การศึกษาเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยอมรับความหลากหลาย ส่งเสริมการมีอาชีพ ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ โดยจะสร้างสถาบันศึกษาปอเนาะดี ระดับอำเภอ ภายใน ๖ เดือนนี้ มีการบูรณาการการศึกษาทุกระดับและส่งเสริมอิสลามศึกษา ต่อยอดไปถึงการมีงานทำ ศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศโดยเฉพาะในสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ

สร้างแหล่งเรียนรู้ราคาถูก กศน.ตำบลต้องเป็นเครือข่ายในการสร้างแหล่งเรียนรู้ในราคาถูก ส่งเสริมการอ่าน มี IT เพื่อการเรียนรู้สำหรับประชาชน มีศูนย์ Fix it Centre ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มี Tutor Channel เติมเต็มในเรื่องของโอกาสการเรียนรู้สำหรับนักเรียน

ยกระดับเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระดับชาติ จะตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มี e-Library, e-Learning

สร้างขวัญและกำลังใจครู ให้มีความก้าวหน้าทั้งในส่วนของตัวเองและวิชาการ โดยจะทำทั้งระบบเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และจะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการเชิญชวนครูทั่วประเทศร่วมลงทุนในกองทุนพัฒนาวิชาชีพครู โดยไม่มีการเรี่ยไรเพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันในยุคปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ให้ครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีศักดิ์ศรีของความเป็นครู

สนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ต้องการเห็นการขับเคลื่อนที่เป็นเครือข่ายในทุกระดับทั้ง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และองค์กรหลัก ในการเปิดห้องเรียนที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนกาญจนาภิเษก โรงเรียนดีระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เพื่อส่งเสริมอัจฉริยภาพของผู้เรียน รวมถึงการปลูกฝังด้านดนตรีให้กับเยาวชน

รมว.ศธ. ยังได้เน้นถึงการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาในเรื่องหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน การประเมินผลเพื่อสนองตอบต่อสิ่งเหล่านี้และให้ไปสู่สถานศึกษาอย่างแท้จริง.

ไม่มีความคิดเห็น: