วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ๑๕ ก.พ. ๕๓

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญ ๔ เรื่อง ดังนี้

๑. โครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ ปีงบประมาณ ๒๕๕๓
ตามแผนปฏิบัติไทยเข้มแข็ง โดยได้ตั้งงบประมาณเอาไว้จำนวน ๑,๔๐๘ ล้านบาท มีเป้าหมายการอบรมผู้บริหารทั้งหมดจำนวน ๓๙,๘๙๘ คน และครูทั้งหมดจำนวน ๔๑๗,๘๘๙ คน มุ่งเน้นในการพัฒนาครูในเชิงคุณภาพเพื่อพัฒนาสมรรถนะครูรายบุคคล, พัฒนาครูดี ครูเก่ง เพื่อจะเป็น Master teacher, ยกระดับคุณภาพครูดี ครูเก่ง มีคุณภาพ มีคุณธรรม และการพัฒนาครูโดยใช้ระบบ e-Training ซึ่ง รมว.ศธ.ได้ฝากข้อสังเกตเพื่อให้เชื่อมโยงกับครูของสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และครูขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนศูนย์ผลิตและพัฒนาครูของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการที่จะทำเป็นเครือข่าย จะผลักดันเรื่องการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบต่อไป

๒. โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ
ที่ประชุมมอบหมายให้ไปทำโครงการหนังสือยืมเรียนทั้งระบบของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สพฐ., สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สกอ. และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งจะต้องไปรณรงค์นโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยมุ่งเน้นกรอบความคิดว่า โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพนี้ ไม่ใช่เป็นโครงการประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการของรัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นการพัฒนาคนให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทุกด้าน และให้การพัฒนาทางการศึกษาเป็นธงนำ ฉะนั้นได้กำหนดปฏิทินการทำงานที่ชัดเจน กล่าวคือ

- เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ประชุมชี้แจงกรอบจัดสรรงบประมาณ ชี้แจงต่อผู้ปกครอง และประชาชน
- เดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ให้องค์กรหลักรายงานยอดของนักเรียนทั้งหมดที่รับบริการ ในเรื่องของการเรียนฟรี ทั้ง ๕ รายการ และให้รายงานยอดผู้ที่ยินดีจะสละสิทธิ์ เพื่อส่วนกลางจะได้โอนเงินไปให้สถานศึกษา
- เดือนเมษายน ๒๕๕๓ สถานศึกษาต้องจัดซื้อจัดหาหนังสือให้ผู้เรียน

นอกจากนั้นในปีนี้นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายที่จะให้โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะกรณีของหนังสือเรียนจะให้ฟรี กับนักเรียนระดับอาชีวะและมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งหมด เพราะว่าได้มีข้อร้องขอมาว่ามีความจำเป็นต้องใช้หนังสือเรียนไปสอบเพื่อเรียนต่อ แต่ในระบบประถมศึกษาทั้งหมดก็ยังให้คงโครงการยืมเรียนอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตามได้ให้องค์กรหลักที่รับผิดชอบในระดับอาชีวะและมัธยมศึกษาตอนปลายไปรณรงค์สำหรับเด็กนักเรียนที่เก็บรักษาหนังสือเรียนที่ดี นำกลับคืนมาไว้ที่โครงการหนังสือยืมเรียนเพื่อลดต้นทุนของภาครัฐในอนาคตด้วย

ที่ประชุมมีมติให้ใช้หลักการในการร่วมมือกันของภาคี ๔ ฝ่าย ในการตัดสินใจในโครงการนี้และให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตามเวลาที่กำหนดนัดหมายที่สำคัญ คือ ให้มีการทำประชาพิจารณ์ ๒ ครั้ง ในช่วงก่อนที่จะดำเนินโครงการ เพื่อถามความคิดเห็นของผู้ปกครองและของคณะครู ตลอดถึงข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพด้วย

๓. โครงการสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคลังองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สำหรับพัฒนาผู้มีความสามรถพิเศษ (MOE Clearinghouse) เพื่อเป็นหน่วยงานรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ ศึกษาค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงเป็นเครือข่ายให้องค์กรอื่น เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ฯลฯ และขอให้ขยายผลองค์ความรู้ไปถึงประชาชน และประสานงานกับ กศน.ตำบล ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูก ซึ่งต่อไปจะมีมุมคลังองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีที่ กศน.ตำบลด้วย

๔. เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Ned Net)
รูปแบบการบริหารเครือข่าย Ned Net จะมีสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นนิติบุคคลภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ให้บริการเครือข่ายเพื่อการศึกษาวิจัยแก่ทุกองค์กร มีภารกิจที่สำคัญในการให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาวิจัย, เป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้, ส่งเสริม e–Learning และ Tele–Conference, ศูนย์ควบคุมโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต และศูนย์ส่งเสริมสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา ในระหว่างรอพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ ก็ให้ สกอ.เตรียมการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นการภายในก่อน และให้ออกระเบียบว่าด้วยกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อประสานกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในการจัดตั้งกองทุนต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: