วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

นายกรัฐมนตรีเปิดงานสมัชชาการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาถึง ได้เยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ เช่น พระบารมีปกเกล้า ปีนี้และปีต่อไป และนโยบายเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

รมว.ศธ.ได้กล่าวรายงานในพิธีเปิดว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑ ซึ่งสาระหลักในข้อเสนอดังกล่าวนอกจากจะกำหนดวิสัยทัศน์อันได้แก่ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาภายในปี พ.ศ.๒๕๖๑ จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษาแล้ว ยังได้กำหนดกรอบแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาไว้ ๔ ประการ อันได้แก่ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพครู การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) ซึ่งมี รมว.ศธ.เป็นประธาน และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการทั้งสองคณะ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนั้น จะเป็นการปฏิรูปที่มีหลัก เป้าหมาย นโยบาย และตัวชี้วัดที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อต้องการให้การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปที่วางรากฐานในการพัฒนาประเทศโดยให้ "คน" เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้พลเมืองของเราสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

การจัดงานสมัชชาครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายซึ่งมาจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ โดยในการจัดงานสมัชชาครั้งนี้ จะให้มีการตั้งองค์กรเอกชนที่เรียกว่า สสส.ทางการศึกษา เพื่อจะมาร่วมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเพื่อไปสู่เป้าหมาย การจัดสมัชชาครั้งนี้ยังมีการเสวนาในเรื่องต่างๆ ๒๑ เรื่อง การแสดง นิทรรศการ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการจัดงานสมัชชาว่า ถือเป็นวันสำคัญอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สำหรับเฉพาะวงการการศึกษาไทย แต่สำหรับสังคมไทย เพราะเชื่อมั่นว่าทุกคนมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และความเชื่ออย่างหนึ่งที่ว่า อนาคตของประเทศชาติจะต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนเป็นหลักสำคัญ และพร้อมที่จะเห็นระบบการศึกษาได้มีการพัฒนา มีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และวางรากฐานที่ดีที่สุดสำหรับเยาวชน สังคม และประเทศชาติของเรา

จากสภาพข้อเท็จจริงว่า ๑๐ ปีของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรกนั้น สิ่งหนึ่งที่ได้สร้างขึ้นมานอกจากความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจแล้ว จะต้องมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของกระบวนการการศึกษา โดยทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าไม่ใช่เฉพาะการเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงการศึกษาตลอดชีวิต ที่ต้องผสมผสานกันระหว่างการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ มาใช้ในการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทุกคนจะต้องได้เรียนรู้และเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการปฏิรูปรอบสองต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าขยายโอกาสเรื่องการบริหารจัดการเกี่ยวข้องกับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ที่จะนำไปสู่ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาในข้อปฏิบัติที่ยังมีอยู่ ซึ่งรัฐบาลมีความชัดเจนในการพยายามเพิ่มวงเงินให้เพียงพอ โดยปรับปรุงการบริหารจัดการให้ดีขึ้น และตอบสนองเป้าหมายที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการของกองทุนกู้ยืม ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องคุณภาพ

สิ่งที่เป็นจุดอ่อน เช่น เรื่องการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยขยายผลจากความสำเร็จที่ได้มาจากกรณีของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไปสู่เรื่องการมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ สร้างระบบความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนการสอน หรือกระบวนการการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ

สำหรับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง มีเป้าหมายชัดเจนที่จะให้เยาวชนหรือคนที่ต้องการเรียนรู้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงเรื่องจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียน หรือต่อคนในชุมชนต่างๆ อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศเรื่องการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่จะส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าการอ่านนั้นจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลาประมาณ ๓ ปีข้างหน้า

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่มีความคาดหมาย ความคาดหวัง เป้าประสงค์ วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้คือ คนไทยจะได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งเรื่องโอกาส คุณภาพมาตรฐาน และการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่ายในการที่จะขับเคลื่อนงานทางด้านนี้ แต่ในขณะเดียวกันจะมีการสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ประมวลสภาวะปัจจุบันและปัญหาในอดีตเข้ากับการคาดการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการในอนาคตเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า "๔ ใหม่" ดังนี้

ใหม่ข้อที่ ๑ การปฏิรูปการศึกษาจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ซึ่งนอกจากเก่ง ดี มีความสุขแล้ว ยังจะต้องเพิ่มเรื่องการดำรงรักษาความเป็นไทยหรือเอกลักษณ์ของชาติไทยไว้ได้ และเท่าทันกับสถานการณ์ของโลกหรือสากล

ใหม่ข้อที่ ๒ การพัฒนาครูยุคใหม่ จะต้องผสมสานกับกระบวนการผลิตครู อาทิ โครงการครูพันธุ์ใหม่ และการอบรมครูประจำการให้มีความพร้อม

ใหม่ข้อที่ ๓ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ โดยสถานศึกษาทั้งที่เป็นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และศูนย์เรียนรู้สำหรับประชาชนโดยทั่วๆ ไป เช่น โรงเรียน ๓ ดี ศูนย์การเรียนรู้ซึ่งกำลังมีการพัฒนาขึ้นมาในระดับตำบลที่จะมีการบูรณาการงานหลายๆ ด้านเข้ามาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศ Fix-it Center การพัฒนาอาชีพต่างๆ ซึ่งรัฐบาลต้องการจะผลักดันให้เกิดขึ้น ให้เป็นทั้งสถานศึกษา ให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ที่จะต้องเกิดขึ้น อันเป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญ

ใหม่ข้อที่ ๔ การพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งเน้นทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อที่จะให้การบริหารสถานศึกษานั้นมีความเป็นอิสระมากที่สุด ควบคู่ไปกับการเน้นธรรมาภิบาล หรือความรับผิดชอบที่มากับอำนาจที่มีการกระจายลงไป ซึ่งเป้าประสงค์ที่ได้ประกาศทั้งหมดนี้ แม้จะเรียกว่าเป็น ๔ ใหม่ แต่ไม่ได้ขัดกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ได้เคยตั้งไว้ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรก แต่ได้มีการเพิ่ม มีการต่อยอดให้เหมาะสมกับสิ่งที่ท้าทายสังคมไทย และคนไทยในปัจจุบันและอนาคตด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงบทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกที่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลายๆ ด้านได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในรอบนี้ ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนอย่างสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางและกลไกไว้แล้วคือ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน มี รมว.ศธ.เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุดจะมีบุคลากรที่มีความหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วม และจะมีตัวช่วยใหม่คือสิ่งที่เรียกว่า สสส.ทางการศึกษา ที่จะมีหน่วยงานที่เป็นลักษณะของหน่วยงานอิสระ ได้รับเงินอุดหนุนในเชิงงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำไปใช้อุดหนุนให้ภาคประชาสังคมที่เข้ามาทำงานสนับสนุนการศึกษานั้น สามารถนำไปปฏิบัติขับเคลื่อนหรือดำเนินการได้ในทุกภาคส่วน ในทุกพื้นที่ของประเทศ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา ได้มีการประชุมไปแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งล่าสุดแม้ว่าเราจะยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าการปฏิรูปการศึกษารอบนี้ได้เน้นว่า ต้องเป็นเรื่องของการปฏิบัติและความสำเร็จจริงๆ จึงตกลงกันว่า การปฏิรูปการศึกษารอบนี้ต้องมีตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน แม้เราไม่สามารถที่จะวัดความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่เราตั้งไว้ออกมาเป็นตัวเลขได้หมด แต่อะไรที่วัดได้เราจำเป็นต้องวัด ต้องกำหนดเป้าหมาย และใช้เป็นเหมือนกับโจทย์หรือเป็นการบ้านที่เราจะต้องตรวจสอบเป็นระยะๆ ให้มองเห็นว่าเรายังเดินหน้าขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ไปช้าไปเร็วเพียงใด เพื่อที่จะให้สังคมและทุกภาคส่วนมีความมั่นใจว่ารอบนี้เราต้องมุ่งสู่ความสำเร็จจริงๆ
ยกตัวอย่างกรณีของตัวผู้เรียน เราก็ต้องตั้งเป้าที่เกี่ยวข้องกับตัวบ่งชี้เอาไว้ หลายตัวนั้นจะต้องวัดได้ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระวิชาหลัก เราจะปฏิรูปกันอย่างไรก็ตาม แต่ในการปฏิรูปการศึกษารอบที่สองนี้ หากเด็กของเราสอบสาระวิชาหลักในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว พบว่าสอบผ่านคะแนนเฉลี่ยเกินร้อยละ ๕๐ เพียงแค่วิชาภาษาไทย แต่วิชาอื่นต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ซึ่งคือความเป็นจริงในปัจจุบัน อย่างนั้นเราต้องฟันธงว่าการปฏิรูปของเราล้มเหลว

ดังนั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๑ คะแนนเฉลี่ยในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เราจะต้องยืนยันว่าต้องผ่านทุกวิชา และไม่ควรจะต่ำกว่าร้อยละ ๕๕ สิ่งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดที่ต้องการจะยกเป็นตัวอย่างว่าครั้งนี้จะต้องมีการดำเนินการตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขที่วัดได้ ประเมินได้ ให้ทุกคนเห็นอย่างโปร่งใส เพื่อที่เราจะได้รู้ตลอดเวลาว่าการปฏิรูปการศึกษาในรอบนี้สำเร็จหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: