วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

คุมเข้มเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลขรก.

ครม.ไฟเขียวมาตรการคุมเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ขรก. พร้อมให้ตั้งบอร์ดบริหารงบไม่ให้บานเบอะ นำระบบใหม่มาใช้ ขรก.รุ่นใหม่ส่อต้องซื้อประกันสุขภาพ และระบบผู้ป่วยนอกใช้การเหมาจ่ายกับสถานพยาบาล ตั้งเป้าปี 53 ใช้งบไม่ให้เกิน 6.1 หมื่นล้านเท่าปีก่อน

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีรายละเอียดรวม 4 ข้อ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ 1.อนุมัติหลักการให้ตรวจสอบและควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาบางกลุ่ม หรือรายการเป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือตามเงื่อนไขและข้อบ่งชี้ที่องค์กรวิชาชีพกำหนด โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

2.มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ระบบการออมเพื่อสุขภาพ (Medisave) สำหรับข้าราชการบรรจุใหม่ 3.มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาการกำหนดอัตราจ่ายล่วงหน้ารายกลุ่มโรค สำหรับการรักษา ประเภทผู้ป่วยภายนอก โดยกรมบัญชีกลางตกลงราคาเหมาจ่ายรายโรคให้กับสถานพยาบาล และ 4.อนุมัติงบประมาณ 11 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

"มีข้อมูลเบื้องต้นว่า การเบิกจ่ายค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลนั้น ในส่วนตัวเลขผู้ป่วยในมีเพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ในส่วนของผู้ป่วยนอกมีสูงขึ้นมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางไปศึกษาแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งกระทรวงการคลังได้เสนอมาให้ ครม.พิจารณาดังกล่าว" นพ.ภูมินทร์กล่าว

ทั้งนี้ รายงานแจ้งว่า กระทรวงการคลังรายงานว่า ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกต่อค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ได้เพิ่มจาก 46% ในปีงบประมาณ 2545 เป็น 74% ในปีงบประมาณ 2552 โดยเฉพาะค่ายา เป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วน 80% ของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยภายนอกทั้งหมด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเบิกจ่ายค่ายานั้น กำหนดให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการใช้ยาและค่าใช้จ่ายด้านยาให้เป็นไปตามความเหมาะสมได้ เพราะกรมบัญชีกลางไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการหรือกำกับเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี มีผลจากการที่กรมบัญชีกลางได้ขอข้อมูลการสั่งจ่ายย้อนหลัง 10 เดือน ในปีงบประมาณ 2552 ของสถานพยาบาลของทางราชการ 34 แห่ง และจากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานพยาบาล 31 แห่ง จาก 34 แห่ง พบว่า สถานพยาบาลมีการสั่งยารวม 16.6 ล้านใบ มูลค่ารวม 15,247.96 ล้านบาท ซึ่งเป็นใบสั่งยาที่มีรายการนอกบัญชียาหลัก 40% คิดเป็นมูลค่า 10,040.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66% ของมูลค่ายาทั้งหมด และยังพบว่ากลุ่มรายการยาที่สั่งให้ยาค่อนข้างสูง และเป็นรายการยาที่มีราคาแพงและมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการสั่งยาไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มยาลดการเป็นแผล และเลือดออกในกระเพาะอาหาร 2.กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ 3.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด 4.กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง 5.กลุ่มยาลดความดันโลหิต 6.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด 7.ยาลดอาการเข่าเสื่อม 8.ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน 9.กลุ่มยารักษามะเร็ง

นายมนัส แจ่มเวหา ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งเชื่อว่าการมีคณะกรรมการดังกล่าวขึ้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ว่าในปีงบประมาณ 2553 นี้ จะพยายามควบคุมรายจ่ายไม่ให้สูงเกินกว่าปีงบประมาณก่อนที่มีการเบิกจ่ายไป 6.13 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณเพียง 4.85 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จากที่ขอไป 6.3 หมื่นล้านบาท

"นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้บอกว่าให้เดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปได้เลย ซึ่งคงเร่งนัดประชุมคณะกรรมการในเร็วๆ นี้" นายมนัสกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: