วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ ๕/๒๕๕๓

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญๆ ดังนี้

๑. โครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีการแถลงนโยบายการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓ ที่จังหวัดยะลา โดย รมว.ศธ.ร่วมกับผู้บริหารองค์กรหลัก ตัวแทนแม่ทัพภาคที่ ๔ ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะร่วมกันแถลงนโยบายการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญคือ นโยบายการจัดตั้งสถาบันศึกษาปอเนาะต้นแบบ ๙ แห่ง ในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ และจะดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณต่อไปอีกจำนวน ๓๙ แห่ง รวมมีการจัดตั้งปอเนาะต้นแบบทั้งหมดจำนวน ๔๘ แห่ง ซึ่งจะเป็นปอเนาะที่มีความพร้อมในการส่งเสริมในเรื่องของอิสลามศึกษา โดยเฉพาะให้ปอเนาะเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อที่จะสร้างวิถีชีวิตของมุสลิมให้เกิดความเข้มแข็ง โดยการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะให้มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านกายภาพ วิชาการ วิชาชีพ และมีสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการบริหารจัดการที่ทันสมัย อำเภอละ ๑ ตำบล ตำบลละ ๑ แห่ง รวมจำนวน ๔๘ แห่ง ทั้งนี้เพื่อที่จะให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะอื่นๆ ต่อไป

๒. การมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ (ว๑๗) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยมีเหตุผลในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เนื่องจากเกณฑ์การประเมินบางรายการกำหนดไว้ไม่เหมาะสม รวมทั้งป้องกันการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ และการละทิ้งห้องเรียนของครูเพื่อไปอบรม/เขียนผลงาน ทั้งนี้ ผู้ขอมีและเลื่อนวิทยฐานะต้องผ่านการประเมิน ๓ ด้าน คือ ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ, ด้านความรู้ความสามารถ และด้านผลการปฏิบัติงาน โดยครูต้องมีภาระงานสอนขั้นต่ำ ตามที่ส่วนราชการกำหนดและปฏิบัติงานตามหน้าที่ย้อนหลัง ๒ ปี ติดต่อกัน นับถึงวันยื่นคำขอ

๓. ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เสนอโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครูให้ดีขึ้น และเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คน โดยได้รับงบประมาณจาก SP2 จำนวน ๑๗,๖๐๗,๒๐๐ บาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๓ จำนวน ๑๓,๐๕๐,๖๐๐ บาท ทั้งนี้ที่ประชุมได้ขอให้มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ และจัดทำสมัชชาพัฒนาชีวิตครู เพื่อร่วมกันดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อไป คือ เริ่มตั้งแต่การผลิตและพัฒนาครู โดยมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปดำเนินการตั้งคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางผลิตและพัฒนาครู มอบคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดำเนินการเร่งรัดเสนอพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนเร่งรัดการเลื่อนวิทยฐานะครูด้วย ในส่วนของ สกสค. ก็รับผิดชอบในเรื่องการตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู คุรุสภารับผิดชอบเรื่องการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูและใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้เป็นระบบที่ชัดเจน

๔. โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล จากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการดำเนินงานโครงการเรียนดีประจำตำบล ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มีการสำรวจรายชื่อโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั่วประเทศ ๑๘๒ แห่ง จำนวน ๑๘๒ โรงเรียน โดยมีเกณฑ์พิจารณาทั้งหมด ๖ ด้าน ได้แก่ ที่ตั้งของโรงเรียน ขนาดพื้นที่ของโรงเรียน จำนวนนักเรียน จำนวนโรงเรียนเล็กที่เป็นเครือข่าย ระดับการจัดศึกษาของโรงเรียน เงื่อนไขพิเศษ คือ การทำประชาคมร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการร่วมกันจัดการการศึกษา หรือเรียกว่าร่วมสร้างโรงเรียนดีประจำตำบล โดย อบต.จะให้ความร่วมมือในการรับ–ส่งนักเรียนจากโรงเรียนในเขตบริการในหมู่บ้านของ อบต. มาเรียนที่โรงเรียนดีประจำตำบล ในการนี้ สพฐ.ได้เตรียมการเปลี่ยนแปลงงบประมาณโครงการ SP2 จำนวนทั้งหมด ๑,๗๑๗ ล้านบาท เพื่อดำเนินการ และจะเริ่มดำเนินการให้ทันภายในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ขั้นตอนต่อไปก็จะทำ MOU กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ร่วมกันสร้างโรงเรียนดีประจำตำบลภายใต้กระบวนการบริหารงานระหว่าง โรงเรียนและ อบต. ให้เป็นโรงเรียนในกำกับของชุมชนต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ กระทรวงศึกษาธิการจะทำประชาพิจารณ์ "โครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ" เพื่อประเมินผลความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน, การสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม, การลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการบริหารจัดการต้องดำเนินการโดยภาคี ๔ ฝ่าย.

ไม่มีความคิดเห็น: