วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

บรรพชา ๕ รั้วร่วมใจ เฉลิมพระเกียรติฯ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานฝ่ายฆราวาส กล่าวรายงานการจัดโครงการบรรพชา ๕ รั้วร่วมใจ เฉลิมพระเกียรติ รองรับปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกัน ระยะที่ ๒ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๓ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
รมว.ศธ.กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติด และนำความสงบสุขมาสู่สังคมไทย อย่างยั่งยืน

รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญของชาติ ประกอบกับในปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ เป็นปีมหามงคลของประเทศไทย รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกับประชาชน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้แนวคิดชวนคนไทยรัก สามัคคีสร้างความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ทราบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานหนักตลอดระยะเวลาการครองราชย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงผูกความเชื่อมโยงระหว่างการบรรพชา การแก้ไขปัญหายาเสพติด และการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ด้วยการจัดโครงการบรรพชา ๕ รั้วร่วมใจ เฉลิมพระเกียรติ รองรับปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกัน ซึ่งถือเป็นมงคลอย่างสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนและถาวร รวมทั้งเป็นการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกันตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

โครงการบรรพชา ๕ รั้วร่วมใจ เฉลิมพระเกียรติ เป็นการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน สำหรับเยาวชนชาย อายุ ๑๒-๑๘ ปี โดยได้รับการชักชวนจากสถานศึกษา หมู่บ้าน ชุมชน จังหวัด แล้วเกิดความสมัครใจ เต็มใจเข้าร่วมโครงการ และได้รับอนุญาตจากบิดา-มารดา หรือผู้ปกครองเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมีจำนวนเยาวชนเข้าร่วมโครงการประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน เยาวชนที่จะเข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้ร่วมถวายพระราชกุศลแล้ว ยังได้ทดแทนพระคุณของบิดา-มารดา และบุพการี เป็นเรื่องที่ดีสำหรับตนเอง คือ ได้มีโอกาสศึกษาหลักธรรมคำสอนจากพระอาจารย์ที่มีความรู้ ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี วิชาการอื่นๆ และได้รับการฝึกฝนอบรมตนเองให้มีศีลธรรม มีระเบียบวินัย และเป็นคนดีของชาติในอนาคต เพื่อให้สมพระเกียรติกับการเฉลิมพระเกียรติที่เยาวชนทุกคนร้อยเรียงด้วยใจถวายเป็นพระราชกุศล จึงกำหนดจัดพิธีบรรพชาพร้อมกันทั่วประเทศ เป็นการแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี การสร้างสรรค์ความดี ตามรอยพระพุทธศาสนา โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น ๕ ช่วง ได้แก่

· ช่วงที่ ๑ การอบรมวิทยากรโครงการบรรพชา ๕ รั้วร่วมใจ เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนให้คำแนะนำในเนื้อหาหลักสูตร กระบวนการ ให้สามารถเป็นวิทยากรแกนนำ ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับบรรพชา ให้คำแนะนำแก่วิทยากรในพื้นที่ ซึ่งมีการอบรมให้ความรู้ เมื่อวันที่ ๒๕-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผู้เข้ารับการอบรม ทั้งจากฆราวาส และพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ จำนวน ๒๓๐ คน

· ช่วงที่ ๒ กำหนดให้วันที่ ๓-๕ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นวันอบรมเตรียมความพร้อม ก่อนการบรรพชา ผู้เข้าร่วมโครงการบรรพชาจะนุ่งขาวห่มขาว มาปฏิบัติเตรียมความพร้อมต่างๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ณ วัดที่แต่ละจังหวัดคัดเลือกให้เป็นวัดที่เข้าร่วมโครงการจังหวัดละ ๒ วัด หรือตามแต่ความเหมาะสม

· ช่วงที่ ๓ พิธีบรรพชาเฉลิมพระเกียรติ ในส่วนกลางสำหรับผู้ที่บรรพชาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการทำพิธีบรรพชารวมกัน ณ วัดสะพาน เขตคลองเตย และในส่วนจังหวัด จะทำพิธีบรรพชารวมกัน ณ สถานที่ที่แต่ละจังหวัดกำหนดขึ้น และเปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมพิธีบรรพชาเพื่อร่วมอนุโมทนาบุญ และพร้อมใจถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกัน พร้อมทั้งรับโอวาทจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติในช่วงการบรรพชา

· ช่วงที่ ๔ ปฏิบัติธรรม สามเณรจะเดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ วัดที่เป็นศูนย์เสมาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทุกจังหวัด เป็นระยะเวลา ๓๐ วัน คือ ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ถึง ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อเรียนรู้พระพุทธศาสนา ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ

· ช่วงที่ ๕ พิธีสวดถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยพร้อมเพรียงกัน ภายหลังการปฏิบัติธรรมในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี ก่อนที่จะมีพิธีลาสิกขา.

ไม่มีความคิดเห็น: