วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

ศธ.ขับเคลื่อนนโยบายเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ

การเรียนฟรี ๑๕ ปี เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกคนควรจะได้รับ
ปีนี้เป็นปีที่สองที่รัฐบาลมีนโยบายในเรื่องเรียนฟรี โดยได้จัดงบประมาณในปีที่สองจำนวน ๗๓,๐๐๐ พันล้านบาท เป็นค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการ เพื่อให้การศึกษาได้ครอบคลุมปวงชนทั้งหมด ความหมายของการเรียนฟรี คือ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกคนควรจะได้รับ

ในส่วนของการศึกษาเอกชนนั้น มีนโยบายที่จะพัฒนาการศึกษาเอกชนไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้เห็นเป้าหมายสูงสุดในการที่จะให้มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับสังคมโลกได้ จึงจำเป็นต้องมีการระดมทรัพยากร การขอความร่วมมือจากประชาชนจากทุกภาคส่วน ส่วนการต่อยอดนั้นทางโรงเรียนอาจมีโครงการเรียนภาษาอังกฤษ (EP) ซึ่งขณะนี้ไปไกลถึงโครงการโรงเรียนนานาชาติด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เติมเต็มเข้ามา ดังนั้นโรงเรียนก็จะต้องทำความร่วมมือกับผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจว่าในส่วนที่นอกเหนือจากค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแล้ว ในส่วนที่เหลือจากนี้เพื่อสร้างโอกาสที่ดีให้กับนักเรียน แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาว่าจะให้อยู่ในพื้นฐานที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของธุรกิจทางการศึกษา แต่เป็นเรื่องที่ต้องการเติมเต็มจากการสร้างโอกาสนี้ด้วย

๔ นโยบายหลักที่จะช่วยเสริมเติมเต็มโครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ
ศธ.มีโครงการที่เป็นนโยบายหลักเข้ามาเสริมเติมเต็ม เพื่อให้กระบวนการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ ในปีนี้มีอยู่ ๔ เรื่อง ดังนี้

- ครู โดยจะมีการอบรมและประเมินสมรรถนะครูเป็นรายบุคคล จะมีการให้ทุนกับครูที่จะเป็นครูต้นแบบ (Master Teacher) จำนวน ๑๐,๐๐๐ ทุน ทุนละ ๕๐,๐๐๐ บาท ได้มีการเตรียมการเสนอร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน วิทยฐานะ การเตรียมผลิตครูพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครู

- การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสอน เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียน โดย ศธ. ได้จัดเตรียมงบประมาณ SP2 ไปดำเนินการในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับ ICT จำนวน ๒,๓๐๐ ล้านบาท และมีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ภายในระยะเวลา ๓ ปี จะมีคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่องต่อนักเรียน ๑๐ คน

- โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ โรงเรียนที่จะไปสู่มาตรฐานสากล ซึ่งจะมีรายละเอียดว่าโรงเรียนไปสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลต้องมีมาตรฐานอะไรบ้าง เช่น มีโครงการเรียนภาษาอังกฤษ มีการใช้ ICT มีการเรียนการสอนแบบ e-Learning มีห้องสมุดที่ดี เป็นต้น โดย ศธ.ได้ตั้งงบประมาณจำนวน ๑,๗๐๐ ล้านบาท สำหรับที่จะนำโรงเรียนชนบทที่อยู่ห่างไกลมาทำความร่วมมือกับท้องถิ่น คือ อบต.กับชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดย ศธ. สร้างปัจจัยพื้นฐาน ด้านอาคารเรียนที่ดี มีห้องสมุดที่ดี มีห้องวิทยาศาสตร์ที่ดี ห้องคอมพิวเตอร์ที่ดี ห้องอินเทอร์เน็ตที่ดีให้ มีลานกีฬา ถ้าโรงเรียนมีความพร้อม ก็อาจจะมีสระว่ายน้ำ เรียกว่าเป็น Sport Complex เล็กๆ ในชนบท ซึ่งปีนี้ได้มีการเตรียมการคัดเลือกโรงเรียนไปแล้วทั้ง ๑๘๒ เขตพื้นที่การศึกษา

- เรียนดี คือกระบวนการที่จะต้องปรับรื้อหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน ตลอดถึงการประเมินผลเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมอบหมายให้ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.เป็นประธานในการปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ เราก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยต่างๆ ที่เป็นบริบทในการที่จะเป็นกระบวนการนำเข้าแล้วนำไปสู่ผลผลิต อาจจะมีหลายส่วนที่ต้องมาเติมเต็ม จึงจะขับเคลื่อนให้ทุกองค์กรของ ศธ.ปรับรื้อหลักสูตร โดยร้อยละ ๗๐ ของเวลาเรียนจะมุ่งเน้นเรื่องสาระการเรียนรู้ โดยเฉพาะวิชาที่เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้อย่างแท้จริง เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น นอกจากนั้นอีกร้อยละ ๓๐ ก็ต้องไปพิจารณาอีกว่า จะดำเนินการที่จะให้เด็กมีกิจกรรมอย่างไร ที่จะเสริมเติมเต็มความสมบูรณ์ขององค์ความรู้ ที่จะพัฒนาในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ และในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ จะได้ข้อยุติว่ากระบวนการที่จะขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา เพื่อไปตอบเป้าหมายในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าว่า ต้องได้พลเมืองยุคใหม่ อย่างน้อย ก็ต้องผ่านผลสัมฤทธิ์ในการเรียนทุกสาระวิชา ที่จะปรับปรุงใหม่ให้ได้เกินร้อยละ ๕๐ จะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณสมบัติตามที่ ศธ. และรัฐบาลได้มีเป้าหมายเอาไว้ ทำให้เราได้เห็นครูเพื่อศิษย์ เป็นครูพันธุ์ใหม่ และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างสถานศึกษาที่เรียกว่า สถานศึกษาใหม่ หรือแหล่งเรียนรู้ใหม่ แล้วก็ไปเติมเต็มด้วยการศึกษานอกโรงเรียน ที่จะต้องมีแหล่งเรียนรู้ราคาถูก คือใช้งบประมาณไม่มากเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อแบ่งปันกัน ประชาชนในชนบทจะได้มีโอกาสมาใช้อินเทอร์เน็ต นักเรียนในชนบทจะมีโอกาสได้มาใช้ Student Channel ครูในชนบทจะได้มีโอกาสมาใช้ Teacher TV และมีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เมื่อมีการเรียนฟรี รัฐบาลโดยการนำของ ศธ.ก็ขับเคลื่อนนำไปสู่เรียนดี ก็จะมีแผนปฏิบัติการที่จะต้องดำเนินการอย่างชัดเจน ซึ่งก็ได้ผ่านสมัชชาการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองไปแล้ว วันนี้ก็มาสู่มหกรรมการขับเคลื่อนการเรียนฟรี เรียนดีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญญาประชาคมกับประชาชนด้วย

โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือ พลเมืองที่มีคุณภาพ
รมว.ศธ.กล่าวถึงพลเมืองที่มีคุณภาพว่า สังคมตั้งความคาดหวังไว้สูงมาก ในส่วน ศธ.ก็มีระบบในเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะมาดูในการพัฒนาในเรื่องการนำผู้เรียนไปสู่คุณภาพอย่างแท้จริง ศธ.ต้องดูแลนักเรียนจำนวนกว่า ๑๒ ล้านคน ทั้งหมดนี้จะมุ่งเน้นและมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า คำว่าคุณภาพ เราต้องการให้เด็กของเราได้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ในระดับนี้ต้องอ่านออก เขียนได้ ทำเลขเป็น และเน้นภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นต้องมีคุณธรรม เด็กยุคนี้ต้องจบการศึกษาขั้นพื้นฐานไปแล้วนี้ต้องเป็นพลเมืองดีต่อไป หากเป็นครูก็ต้องเป็นครูพลเมืองดี

ดังนั้นกระบวนการชี้วัดและการทดสอบประเมินผลต่อไปนี้ ต้องควบคู่กันไป คือต้องวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและต้องวัดทางด้านคุณธรรม จริยธรรมด้วย จะทำอย่างไรให้กระบวนการสอนทางศาสนาตาดีกา ปอเนาะมาเชื่อมโยงกับการศึกษาในระบบ โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องไปจัดหลักสูตรการสอนอิสลามอย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกัน กศน.ก็ต้องเข้าไปดูแลการเทียบโอน อาชีวศึกษาก็ต้องมองแบบองค์รวม ต้องมีศูนย์ในการฝึกอาชีพด้วย สกอ.ก็มีวิทยาลัยชุมชนและมหาวิทยาลัยใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีกระบวนการรับเด็ก ไปต่อยอดในการเรียนในมหาวิทยาลัย โดยมีปัจจัยเร่งด่วนมีอยู่ ๓ เรื่อง ตัวชี้วัด การพัฒนาครู และการใช้เทคโนโลยี เข้าไปช่วยขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาให้ต่อเนื่องต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: