วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

การสัมมนา ผอ.สพท.ทั่วประเทศ

"โรงเรียนดีประจำตำบล" จะช่วยตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาและตอบโจทย์ด้านต่างๆ

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงนโยบายที่สำคัญของในการจัดสถานศึกษายุคใหม่ ภายใต้โครงการ "โรงเรียนดีประจำตำบล" โดยกล่าวว่าเป็นโครงการที่จะไปตอบโจทย์การพัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ทั้งในเรื่องคุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณให้อย่างเต็มที่ ซึ่งความสำเร็จของโรงเรียนดีประจำตำบลอาจจะยังไม่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจได้ภายใน ๑-๒ ปีนี้ แต่จะเป็น ๑๐ ปีข้างหน้า เพราะหากเราสามารถจัดปัจจัยนำเข้าให้แก่โรงเรียนอย่างมีมาตรฐานสูงแล้ว เราก็สามารถบริหารจัดการโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เฉพาะสำหรับเด็กปกติเท่านั้น แต่รวมไปถึงเด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ เด็กพิการ ที่สามารถจัดการเรียนร่วมเพื่อช่วยเด็กกลุ่มนี้ด้วย ทั้งยังตอบโจทย์การกระจายอำนาจที่จะเกิดความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกด้วย เพราะโรงเรียนดีประจำตำบลจะต้องร่วมมือกับ อปท.มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความร่วมมือนี้ต้องร่วมมือกันด้วยความจริงใจ โดยมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน และเชื่อว่า อปท. คงคิดตรงกันที่จะร่วมมือกันบริการแก่คนในชุมชนของตนเอง

รูปแบบของโรงเรียนที่เน้นให้เป็น "โรงเรียนดีในกำกับของชุมชน"

รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายนี้จะสอดรับกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ภายใต้ต้นทุนที่แต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน เพราะรูปแบบของโรงเรียนดีประจำตำบลซึ่งจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๓ ทั้ง ๑๘๒ โรงเรียนนี้จะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากโรงเรียนต้องหารือร่วมกันในชุมชนก่อนว่า ท้องถิ่นนั้นๆ มีความพร้อมที่จะร่วมกันสร้างและพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบลหรือไม่เพียงใด เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานสูง และหากตกตงที่จะร่วมมือกัน ก็ต้องมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้บริหารโรงเรียนกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้ง MOU ในส่วนกลางระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงมหาดไทยด้วย ตนจึงขอเรียกโรงเรียนดีๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้ว่าเป็น "โรงเรียนดีในกำกับของชุมชน"

เน้นความรวมมือและการระดมทรัพยากร

สำหรับความร่วมมือในชุมชน ซึ่งถือเป็นหลักของการกระจายอำนาจที่ อบต.ควรสนับสนุน เช่น รถโรงเรียน ซึ่งแต่ละ อบต.มีอยู่แล้ว อาจนำไปติดป้ายเป็นรถโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อรับส่งนักเรียนจากบ้านมาโรงเรียน ส่วนการสร้างสระว่ายน้ำ หากตำบลมีความพร้อมที่จะสนับสนุนโดยการจ้างครูพละมาช่วยสอน ทาง สพฐ.ก็พร้อมจะจัดสรรงบประมาณไปให้แห่งละประมาณ ๘-๑๐ ล้านบาท นอกจากนั้นอาจมีการช่วยกันระดมทรัพยากรจากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มเติม ให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนรักท้องถิ่นของตนเอง หลังจากนั้นอาจจะมีการทำ MOU กับโรงเรียนดีประจำอำเภอ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อมาดูแลร่วมกันต่อไป

ย้ำ ๓ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายหลังจัดทำ MOU


รมว.ศธ.กล่าวว่า กิจกรรมที่จะดำเนินการภายหลังการจัดทำ MOU นั้นจะให้ที่ประชุมสัมมนาครั้งนี้ช่วยกันคิดต่อ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ชัดเจนอย่างน้อย ๓ ด้านที่สำคัญคือ ๑) พัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเข้มข้นขึ้น ๒) พัฒนาเทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ดีที่สุด ๓) พัฒนาบุคลากรในโรงเรียน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ศธ.จะดูแลเป็นพิเศษ หากจะต้องมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กภายในตำบลเข้ามาเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล

ทุ่มงบฯ กว่า ๑,๙๐๐ ล้านบาท สำหรับ ๑๘๒ โรงเรียนดีประจำตำบลในปีแรก


รมว.ศธ.กล่าวว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องงบประมาณอย่างมาก เนื่องจากเป็นรัฐมนตรีเพียง ๓ เดือน แต่ตนใช้ความกล้าหาญในเรื่องนี้มากพอสมควรที่จำเป็นต้องตัดสินใจโครงการนี้ขึ้น โดยใช้งบประมาณกว่า ๑,๙๐๐ ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่างบประมาณก้อนแรกจำนวน ๑,๗๐๐ ล้านบาทนั้นต้องได้แน่นอน ส่วนงบฯ ที่เหลือกว่า ๒๐๐ ล้านบาทนั้น ให้ สพฐ.ขอขยายเวลาการจัดจ้างออกไป และงบฯ SP2 นี้เชื่อมั่นว่าต้องเสร็จภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม เพื่อจัดสรรงบประมาณทั้งหมดให้โรงเรียนดีประจำตำบลทุกแห่งนำไปจัดภูมิทัศน์ใหม่ มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน สร้างศูนย์กีฬาหรือสระว่ายน้ำ สร้างศูนย์การเรียนรู้อาชีพ จัดซื้อครุภัณฑ์ สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา สร้างหรือปรับปรุงห้องสมุดที่ทันสมัย

ขอความร่วมมือจาก ผอ.สพท.

รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอความร่วมมือ ผอ.สพท.ช่วยกันคิดและวางแผนดำเนินการ หากไม่เช่นนั้นกรอบความคิด ๓ เรื่องนี้จะทำยาก คือ ๑) การรับส่งนักเรียนจากบ้านมาโรงเรียน ๒) การช่วยกันระดมทำ School Mapping เพื่อดูข้อมูลคนในวัยเรียน วัยทำงาน มีการจัดทำ School Based Management ที่ชัดเจน ๓) เร่งการจัดจ้าง ทั้งนี้ ผอ.สพท.จะต้องพิจาณาถึงศักยภาพความพร้อมที่จะให้เกิดความร่วมมือในด้านใดได้อีกบ้าง

ความร่วมมือของ อบต.

รมว.ศธ.ยังได้ฝากให้นายก อบต.ช่วยพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ๑) หาก อบต.ใดที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการในปีต่อไป ขอให้มาดูต้นแบบของโรงเรียนดีประจำตำบลในปีนี้ด้วย ๒) ช่วยกันทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในตำบลเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการนี้ ๓) ช่วยกันผนึกกำลังพัฒนาด้านกายภาพ ความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างแท้จริง

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า หวังว่าการประชุมสัมมนาครั้งนี้ จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ข้อสรุป และภาพที่ชัดเจนของความร่วมมือในการจัดสร้างโรงเรียนดีประจำตำบลต่อไป เพราะตนเชื่อมั่นว่าโรงเรียนดีประจำตำบลจะตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ทั้งเรื่องคุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง คาดหวังว่าเราจะมีโรงเรียนดีประจำตำบลในอนาคตเกิดขึ้นอีกกว่า ๗,๐๐๐ ตำบล ดังนั้นอนาคตจะเป็นอย่างไร ขอตั้งความหวังความปรารถนาดีไว้ด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: