วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างอนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๓ จำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่

ร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เรื่อง กำหนดอัตราและรายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษา สำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา

- สถาบันอุดมศึกษาที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนทางการศึกษา ตามประกาศนี้ต้องเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับคนพิการเข้าศึกษาในหลักสูตรที่ไม่สูงกว่าระดับปริญญาตรี และต้องไม่เคยได้รับการอุดหนุนทางการศึกษาตามประกาศนี้ในหลักสูตรระดับปริญญาตรีมาก่อน

- รายการที่ให้การอุดหนุนประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นในทำนองเดียวกัน ตามรายการที่ปรากฏในระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งในทุกหลักสูตร โดยไม่เกินอัตรา ดังนี้

กลุ่มสาขา อัตราค่าใช้จ่าย บาท/ราย/ปี

๑.สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ๖๐,๐๐๐

๒.ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ๖๐,๐๐๐

๓.วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๗๐,๐๐๐

๔.เกษตรศาสตร์ ๗๐,๐๐๐

๕.สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ๘๐,๐๐๐

๖.แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ ๑๕๐,๐๐๐

ร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เรื่อง กำหนดอัตราและรายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาอาชีวศึกษาสำหรับคนพิการ

- สถานศึกษาที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนทางการศึกษาตามประกาศนี้ ต้องเป็นสถานศึกษาที่ได้รับคนพิการ เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือหลักสูตรปริญญาตรี สายเทคโนโลยีและปฏิบัติการ และต้องไม่เคยได้รับการอุดหนุนทางการศึกษาตามประกาศนี้ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือหลักสูตรปริญญาตรีมาก่อน

- รายการที่ให้การอุดหนุน ประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นในทำนองเดียวกัน ตามรายการและอัตราที่กำหนดในระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของส่วนราชการ สถาบันการอาชีวศึกษา หรือสถานศึกษาเอกชน แล้วแต่กรณี

ร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่อื่นของศูนย์การศึกษาพิเศษ พ.ศ. ....

-ให้ศูนย์การศึกษาพิเศษปฏิบัติหน้าที่อื่นได้ ดังนี้ ๑) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่คนพิการ ที่มีความบกพร่องทางสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรังอยู่ในโรงพยาบาล หรือที่บ้านเป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถไปเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตามปกติ ๒) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ที่มีการเรียนร่วมในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน ๓) จัดทำระบบส่งต่อ และส่งเสริมสนับสนุนช่วงเชื่อมต่อสำหรับคนพิการ ๔) ส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการตามความเหมาะสมและจำเป็น

-สำหรับร่างประกาศฉบับนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนะให้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ โดยให้หน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายภาคเอกชนและ อปท. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา และสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการด้วย

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการศึกษาสำหรับคนพิการเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ ที่สนับสนุนให้คนพิการได้เรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังส่งเสริมโอกาสสำหรับคนพิการ โดยให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดูแล และรับผิดชอบการศึกษาระดับนี้ ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วประเทศ ในส่วนของโรงเรียนดีประจำตำบล จะสามารถช่วยเด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ ให้มีพัฒนาการในระดับที่สูงขึ้น และยังเกี่ยวข้องกับคนพิการโดยตรง คือ โรงเรียนดีประจำตำบลจะเป็นโรงเรียนเรียนร่วม โดยกระทรวงศึกษาธิการจะจัดครูไปให้ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนพิการ รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญคือ คนพิการได้เรียนร่วมกับคนปกติด้วย

สำหรับข้อเสนอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาสำหรับคนพิการนั้นได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการที่ประชุมไปเตรียมการในเรื่ององค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ หรืออาจเป็นในรูปแบบคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ซึ่งจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: