วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

การวิจัยการพัฒนาการศึกษาของ รร.ภายหลังการประเมินภายนอกรอบแรก

รมว.ศธ.กล่าวว่าจากการประเมินพบว่า โรงเรียนที่ได้มาตรฐานอยู่ในระดับดี มีจำนวน ๑๐,๘๕๖ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๓๖.๒ ที่เหลือเป็นโรงเรียนที่ได้มาตรฐานในระดับพอใช้และปรับปรุงจำนวน ๑๙,๑๔๕ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๖๓.๘ (พอใช้ คิดเป็นร้อยละ ๙๗ ดี คิดเป็นร้อยละ ๓) จากผลการประเมินของ สมศ. ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งติดตามการปรับปรุงการดำเนินงานของโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ทั้งนี้หากโรงเรียนเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ก็จะทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา และทำให้ผู้รับบริการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทั่วประเทศ โดย สกศ. ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

ระดับกระทรวงศึกษาธิการ

๑. การขาดแคลนครู กระทรวงศึกษาธิการควรจัดทำแผนความต้องการครูโดยการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดระเบียบการขอโอนย้ายครู ผู้บริหาร โดยให้มีการเลือกพื้นที่และทำสัญญาก่อนบรรจุ การใช้เทคโนโลยีช่วยสอนแทนครู และหารูปแบบอื่นๆ ในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
๒. การจัดสรรงบประมาณรายหัวสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ควรวิจัยจำนวนนักเรียนและงบประมาณขั้นต่ำชองโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนเล็กที่มีคุณภาพดี เพื่อยกระดับการศึกษาให้สูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม
๓. การโอนสถานศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรวิจัยข้อดีข้อเสียของสถานศึกษาที่ถ่ายโอนไป และประชาสัมพันธ์ให้เห็นข้อดีข้อเสียของการโอนย้ายไป อปท. การวางระบบการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือโรงเรียนอย่างเป็นระบบ โปร่งใสและเสมอภาค
๔. การกระจายอำนาจและการปรับกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยกระจายอำนาจการคัดเลือกครูให้กับโรงเรียน สร้างความก้าวหน้าให้ครู ผู้บริหารที่เท่าเทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ และมีระบบสร้างขวัญกำลังใจเป็นพิเศษ รวมทั้งลดขั้นตอนการดำเนินงานด้านงบประมาณ การปรับโครงสร้างคณะกรรมการสถานศึกษา และการออกกฎระเบียบควรยืดหยุ่น เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพ
๕. การทำงานแบบร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีระบบการเชื่อมโยงการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงาน / องค์กรต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

๑. จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยทำการวิจัยนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กและผลกระทบที่ตามมา และจัดทำแผนที่โรงเรียนทุกสังกัด เพื่อนำมาใช้ในการจัดทำแผนการยุบรวมโรงเรียน พร้อมทั้งนำผลการประเมินภายนอกมาจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนร่วมกับผู้บริหาร ครู และกำกับติดตามการพัฒนาจนได้มาตรฐาน
๒. วางระบบและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาครูให้ชัดเจน
๓. วางระบบการนิเทศที่เข้มแข็ง ให้ศึกษานิเทศก์เป็นพี่เลี้ยงแก่โรงเรียนได้ทั้งระดับประถมและมัธยม และให้มีการยกย่องศึกษานิเทศก์ที่มีผลงานดีเด่น
๔. วางระบบช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียน ด้านการบริหารจัดการ สื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน และการทำงานแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาทักษะพ่อแม่ในการช่วยเหลือเด็กและสามารถเพิ่มพูนความรู้ที่นำไปใช้พัฒนานักเรียนได้ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพชุมชนด้านวิสัยทัศน์ การพัฒนาผู้เรียนร่วมกับโรงเรียน ตลอดจนการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น

สถาบันผลิตครู ให้ปรับการผลิตครูที่สอนได้ทุกกลุ่มสาระ หรือมีวิชาเอก-โท หรือการสอนแบบคละชั้น และจัดให้มีนักวิชาการประจำโรงเรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน

สมศ. ให้ปรับปรุงมาตรฐานและตัวบ่งชี้การประเมินให้มีความยืดหยุ่นตามบริบทของโรงเรียนที่ต่างกัน กำกับดูแลผู้ประเมินให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน และมีศักยภาพในการให้ข้อเสนอในการพัฒนาโรงเรียนที่เหมาะสมปฏิบัติได้จริง

สถาบันสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ควรมีการวัดทั้งความรู้ที่จำเป็นและความรู้ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และให้ O-Net เชื่อมโยงกับการปรับหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน และการประเมินผลต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: