วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

ศธ.รื้อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2553 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพว่า ตนมีนโยบายให้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมทั้งหลักสูตรจัดการศึกษาระดับอื่น ๆ อีกครั้ง รวมไปถึงการปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอน การประเมินผลด้วย โดยมอบให้นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานคณะทำงานรื้อหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผล

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการเติมเต็มหลักสูตร ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาโดยเฉพาะการสร้างเด็กที่เก่ง ดี มีความสุข ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น ศธ.จึงต้องการให้มีการปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ โดยโมเดลเบื้องต้น คือ การจัดการเรียนรู้ ร้อยละ 70 จะเป็นการเรียนสาระวิชาการ โดยเฉพาะวิชาพื้นฐานของการเรียนรู้ คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ ส่วนที่เหลือร้อยละ 30 ให้เทเวลาให้กับกิจกรรมเพื่อเสริมความรู้ พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม จิตอาสา ให้กับผู้เรียน ซึ่งในการปฏิรูปการศึกษา 10 ปีจากนี้จะได้เห็นนักเรียนซึ่งเป็นพลเมืองที่ดี มีครูพันธุ์ใหม่ มีแหล่งเรียนรู้ราคาถูกที่สร้างสังคมใหม่ให้ทุกคนเข้าถึงได้ซึ่งการเติมเต็มความรู้ได้

“เรื่องการปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนนี้ จะมีข้อยุติภายในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2553 และการปรับหลักสูตรครั้งนี้จะต้องตอบสนองการพัฒนาประเทศ สามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของประเทศ โดยจะทำคู่ขนานไปกับการปรับหลักสูตร จะต้องมีการพัฒนาครูเพื่อสร้างครูที่มีจิตวิญญาณครู ซึ่ง ศธ.ก็มีโครงการพัฒนาครูครั้งใหญ่ รวมถึงโครงการให้ทุนครูพันธุ์ใหม่ด้วย นอกจากนั้น ก็ยังมีโครงการปรับปรุงพัฒนาสถานศึกษาด้วย โดยเฉพาะโครงการสร้างร.ร.ดีประจำตำบลที่จะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 53 จำนวน 182 โรง”นายชินวรณ์ กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น ตนยังให้ สพฐ.ไปหารือร่วมกับ สทศ. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปกำหนดให้ตรงกันว่า เนื้อหาข้อสอบการวัดผลประเมินผลจะมีการพัฒนาในรูปแบบใดเพื่อให้เหมาะสมและเพื่อเป็นการให้โอกาสผู้เรียนทุกระดับการศึกษา โดยกำหนดให้ตรงกันทั้งผู้สอนและผู้สอบ อย่างไรก็ตาม นโยบายของ ศธ. ต้องการให้ข้อสอบวัดความถนัด องค์ความรู้ คุณธรรมของผู้เรียน มากกว่าวัดเนื้อหาในหนังสือเรียน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการกวดวิชาได้ ต่อไปข้อสอบจะเน้นคิดวิเคราะห์สอนคล้องการเรียนในห้องเรียนมากขึ้นไม่ใช่สอดคล้องกับที่โรงเรียนกวดวิชาสอน รวมทั้งให้ สทศ.ลดการสอบเหลือแค่ 2 ครั้งด้วย เพื่อลดปัญหากวดวิชาเช่นกัน

“การจัดทำประชาพิจารณ์จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการรวบรวมประเด็นและสรุปผลเพื่อนำเสนอให้ตน และจะนำหารือร่วมกันในที่ประชุมผู้บริหารเพื่อที่จะได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานทิศทางที่เหมาะสม ทั้งนี้ ส่วนของการดำเนินการเรียนฟรีนั้นทุกอย่างจะดำเนินการไปตามแนวปฏิบัติ คือ ให้โรงเรียนร่วมกับภาคี 4 ฝ่ายในการทำงาน รวมถึงทำตามกำหนดปฏิทินที่วางไว้คือ เดือน เม.ย.นี้ให้จัดสรรงบประมาณไปลงยังร.ร.เพื่อที่ร.ร.จะจัดสรรให้แก่ผู้ปกครองเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน ขณะเดียวกันก็ขอให้เร่งดำเนินการตำราเรียนให้ทันในการเปิดภาคเรียนคือภายในเดือน พ.ค.จากนั้นเดือน มิ.ย.จะเป็นการประเมินผลการทำงานต่อไป” นายชินวรณ์ กล่าว

นายพนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดศธ.กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการดำเนินการโครงการเรียนฟรีฯว่า ตามความเห็นของตนเห็นว่ารายการที่จัดสรรให้ฟรี 5 รายการนั้นเป็นการให้ฟรีในอัตราเท่า ๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้วตนมีข้อสังเกตว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน หมายถึงแต่ละครอบครัวมีความพร้อมไม่เท่ากันบางครอบครัวอาจจะไม่ต้องการสิ่งที่จัดสรรให้ ขณะที่บางครอบครัวต้องการเพียงบางส่วน หรือบางครอบครัวที่ขาดแคลนมีความต้องการมากกว่าที่จัดสรรให้ เพราะฉะนั้น ต้องการ ศธ. พิจารณาในประเด็นเหล่านี้

ไม่มีความคิดเห็น: