วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ศธ.พัฒนาครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ "การพัฒนาความรู้ทางวิชาการ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสู่การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สำหรับครูมัธยมศึกษา" จัดโดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓ ที่หอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศาลายา จังหวัดนครปฐม
รมว.ศธ กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของการปฏิรูปการศึกษา ได้มีการวางหลักการ เป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยหลักการคือ จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิตเน้นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค สำหรับผู้เรียนและเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา มีเป้าหมายสำคัญ ๔ เป้าหมาย ได้แก่

- พัฒนาพลเมืองยุคใหม่ที่มีคุณภาพ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องการเห็นคนเป็นคนเก่ง ดี มีสุข
- พัฒนาครูยุคใหม่ ต้องให้ครูมีขวัญและกำลังใจ เป็นครูเพื่อศิษย์อย่างแท้จริง กระทรวงศึกษาธิการ ต้องวางระบบในการผลิตครูพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพในอนาคต ปัญหาวิกฤติคือ การขาดครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงปัญหาครูของครูที่เกษียณร้อยละ ๓๐ ต่อปี แต่ปัญหาครูของครูด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ก็ยังวิกฤติกว่า รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการจูงใจที่จะให้คนมาเรียนด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เป็น Master Teacher ในการให้ได้ครูดีเก่งไปขยายผลในโรงเรียนมัธยมศึกษา
- พัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ เพื่อรองรับโรงเรียนดีระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล รวมถึงการสร้างแหล่งเรียนรู้ต่างๆให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูกที่นำ กศน.ตำบลไปขยายผลให้ครบทุกตำบล
- พัฒนาการบริหารจัดการใหม่ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ของคนในสังคมก็ได้จากการเรียนรู้ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยร้อยละ ๖๐ ส่วนที่เหลือร้อยละ ๔๐ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสังคม หรือกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ตั้ง สสส.ทางการศึกษาขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่าสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ซึ่ง รมว.ศธ.ได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓
รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่ง ที่จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างแท้จริง จึง ขอให้โรงเรียนที่เปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ช่วยกันในการพัฒนาครูทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และช่วยกันคิดด้วยว่ากระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบาย หรือควรจะมีแรงจูงใจอย่างไรที่จะทำให้มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น นอกจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จะเป็นต้นแบบทางความคิดแล้ว

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถเข้าไปช่วยเหลือในการเรียนของนักเรียน และการสอนของครูได้ด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญ แต่จะเป็นเครื่องมือในการที่จะช่วยให้การเรียนการสอนของครูทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ นั้นได้เกิดผลสัมฤทธิ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากผลการทดสอบ O-net และ A-net วิชาที่ได้คะแนนต่ำกว่าวิชาอื่นก็คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จึงเป็นเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าเราจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาต่อไป รวมถึงต้องวางระบบในการปรับโครงสร้างของหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และการประเมิน ผลครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้มีการเตรียมการประมวลข้อคิดเห็นต่างๆ และตั้งคณะทำงานในการที่จะมุ่งเน้นสาระการเรียนรู้ คือการให้เด็กมีพื้นฐานความรู้ อ่านออก เขียนได้ ทำเลขเป็น เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สาระที่เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญเป็นเหตุผลในการสร้างพื้นฐานในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องปลูกฝังสิ่งที่สำคัญแม้ว่าจะมีความรู้ที่ดี มีหลักคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ดี หากว่าขาดคุณธรรม ขาดความเป็นพลเมืองที่ดีก็จะมีปัญหาอีกเช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องมาทำระบบในเรื่องนี้ เน้นในสาระการเรียนรู้ที่เข้าใจว่าเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่แท้จริงในจำนวนร้อยละ ๗๐ ของเวลาทั้งหมดที่เรียนในโรงเรียน ส่วนเวลาที่เหลืออีกร้อยละ ๓๐ จะมีการปรับปรุงในเรื่องของการที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเชิงกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้โดยใช้การศึกษาสร้างความเป็นพลเมือง หรือการบูรณาการของกิจกรรมลูกเสือ

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสำคัญที่ให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไปขยายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จำนวน ๑๒ แห่ง ทั่วประเทศ เป็นการขยายผลให้นักเรียนที่สนใจเรียนด้านนี้ ได้มีโอกาสเรียนกับครูที่ดี มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ดี คาดว่าจะต้องขยายผลไปยังโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล หรือโรงเรียนดีประจำจังหวัดที่ต้องมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: