วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สมศ.เพิ่ม3เกณฑ์ตัวชี้วัดยืดหยุ่น

สมศ.เตรียมปรับตัวชี้วัดรอบ 3 อีกรอบ หลังทดลองประเมินพบยังมีข้อบกพร่อง ลดตัวชี้วัดที่ไม่จำเป็น เพิ่ม 3 เกณฑ์ที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับความเป็นจริงของแต่ละสถาบัน รองรับการปฏิรูปรอบการศึกษารอบใหม่ คาด 3 เดือนเสร็จ พร้อมประเมิน 61,510 แห่งทันที
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบสาม ปี 2554-2558 จะมีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินทั้งสิ้น 61,510 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมา สมศ.ทดลองนำร่องใช้ระบบหลักเกณฑ์การประเมินฯ รอบสามของสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษา ที่ได้มีซึ่งพบว่าการยกร่างมาตรฐานและตัวชี้วัดยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง อาทิ เรื่องการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี บางสถานศึกษาไม่มีข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการประเมิน เป็นต้น ดังนั้น สมศ.นำข้อค้นพบที่ได้จากการนำร่องและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ มาปรับปรุงตัวชี้วัดใหม่ โดยจะลดปริมาณตัวชี้วัดเหลือเท่าที่จำเป็น และวัดในสิ่งที่เป็นไปได้ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองและสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนไป
ผอ.สมศ.กล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินฯ รอบสามได้กำหนดตัวชี้วัดเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ตัวชี้วัดพื้นฐานหรือตัวชี้วัดขั้นต่ำที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานจำเป็นของทุกสถาบัน 2.ตัวชี้วัดอัตลักษณ์ โดยให้แต่ละสถาบันนำเสนอเอกลักษณ์ตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และจุดเด่น ซึ่งเป็นความต่างของแต่ละสถาบัน และยังแก้ปัญหาสถาบันที่บางแห่งเปิดมานาน บางแห่งเพิ่งเปิด ตลอดจนเรื่องการแบ่งประเภทของสถาบันได้ด้วย และ 3.ตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตามยุคสมัย หรือตามนโยบายภาครัฐ เพื่อให้สามารถตอบสนองนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพโดยรวม
"การประเมินฯ รอบสามจะประเมินผลเชิงบวก ซึ่งสถานศึกษาไม่ต้องกังวล เพราะในส่วนของตัวชี้วัดพื้นฐาน ก็ยังคงมาจากตัวชี้วัดเดิม ส่วนตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ สถานศึกษาสามารถเสนอมาเองได้ ทั้งนี้การประเมินฯ รอบสามไม่จำเป็นต้องแจ้งให้สถานศึกษาทราบถึงตัวบ่งชี้ล่วงหน้า 1 ปี ก่อนการประเมินเหมือนในอดีตอีก ยกเว้นตัวชี้วัดพื้นฐาน ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะบอกล่วงหน้า" ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการบริหาร สมศ.ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการจัดทำตัวชี้วัดรอบสามออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่กำหนดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2553 ดังนั้นคาดว่าภายในวันที่ 30 กันยายน ทุกอย่างก็จะชัดเจนทั้งเรื่องตัวชี้วัด หลักเกณฑ์ใหม่ คู่มือผู้ประเมิน ตลอดจนคู่มือการรับการประเมิน และจะเริ่มออกประเมินฯ รอบที่สามได้ในเดือนมิถุนายน 2554.

ที่มา นสพ.ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น: