วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

9ครูดีเด่น รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2553

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โครงการครูดีเด่น "รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" ได้จัดพิธีมอบรางวัลแก่ครูดีเด่น ประจำปี 2553 จำนวน 9 คน ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ถนนสุขุมวิท ซอย 47 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญและกำลังใจแก่ครูผู้ปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งได้ทุ่มเทและเสียสละอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงาน คุณงามความดีของครูที่ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างของการทำดีในสังคมไทย

ทั้งนี้ ครูดีเด่น "รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" ทั้ง 9 คน จะได้รับรางวัล ประกอบด้วย 1.โล่รางวัลเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณ 2.เงินสดรางวัลละ 30,000 บาท 3.เงินสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนละ 10,000 บาท และ 4.กรมธรรม์ประกันสุขภาพ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ครูที่ได้รับรางวัลทั้ง 9 คน อยู่ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 3 คน ได้แก่

- น.ส.ภัชรินทร์ หน่อแก้ว ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยปูด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน วัย 46 ปี ปฏิบัติหน้าที่ครู ศศช. รวม 16 ปี ได้รับรางวัลครูดีเด่น อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ประจำปี 2539 โรงเรียนตั้งอยู่บนดอยสูงชันพื้นที่ทุรกันดาร ฤดูฝนรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องเดินเท้ากว่า 2 ชั่วโมง มีทักษะในการบริหารจัดการชุมชนที่ดี ส่งเสริมอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงให้ชาวบ้านได้พึ่งพาตนเอง เป็นผู้ริเริ่มรณรงค์การควบคุมประชากร ทำให้สามารถลดลงจากอดีตที่ครอบครัวมีบุตรเฉลี่ย 5 คน ให้เหลือ 3 คนได้ในปัจจุบัน ฯลฯ

- น.ส.พิศมัย เหมะธุลิน ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านแม่หลองใต้ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อายุ 40 ปี ปฏิบัติหน้าที่ครู ศศช. รวม 10 ปี ได้รับรางวัลครูผู้ปฏิบัติงานดีเด่น อ.อมก๋อย ประจำปี 2552 โรงเรียนตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ระยะทางจาก อ.อมก๋อย ถึงโรงเรียนกว่า 200 กิโลเมตร อยู่บนดอยสูงต้องเดินเท้ากว่า 2 วัน ในฤดูฝนรถไม่สามารถเข้าถึง ส่วนฤดูแล้งต้องเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์กว่า 1 วัน ได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่บูรณาการภาษาปกากะญอและภาษาไทย เช่น การเขียนแบบฝึกหัดภาษาไทยต่างๆ บนกระดาษเทาขาว และให้นักเรียนทำราวไม้ไผ่แขวน สามารถนำไปสอนในหมู่บ้าน ใต้ต้นไม้ได้ และได้จัดทำหนังสือรวบรวมพืชผักของชาวบ้านปกากะญอที่กินเป็นอาหารได้ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชผักพื้นบ้าน ฯลฯ

- น.ส.วราภรณ์ วัฒนะนุกูล ครูศูนย์ฯ กศน.อำเภอธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา วัย 28 ปี โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงที่สุดแห่งหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างเดินทางไปกลับจากบ้านถึงโรงเรียนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น การลอบวางระเบิดถนนและการลอบยิงเกือบทุกวัน เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งห้องสมุดหัวกะทิ ส่งเสริมการอ่านของชาวบ้านในชุมชน ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมในพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้านให้มีรายได้เสริมสำหรับครอบครัว เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่ประชาชนใน อ.ธารโต ฯลฯ

สังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จำนวน 3 คน ประกอบด้วย

- ร.ต.ท.ดอน สมควร ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชนัตถ์ปิยะอุย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย อายุ 42 ปี เคยได้รับรางวัลครูใหญ่ ตชด.ดีเด่น ประจำปี 2547 และปี 2552 ได้พัฒนาโรงเรียน ตชด.ชนัตถ์ปิยะอุย จากอันดับสุดท้ายของการประเมินปี 2540 ขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ ของภาคเหนือในปี 2552 ริเริ่มการตั้งโรงเรียนสาขาบ้านห้วยกุ๊ก เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนบ้านไกลบนดอยสูง ฯลฯ

- จ.ส.ต.วัชรพงษ์ กันหมุด ครูใหญ่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคะเนจือทะ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อายุ 40 ปี เป็นครูในโรงเรียนที่ทุรกันดารมาตลอดโดย เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงเรียน ตชด.ใหม่ๆ ที่เข้าถึงยาก ส่วนมากต้องเดินเท้าเข้าพื้นที่ในช่วงแรกๆ มีความคิดริเริ่มในการผันน้ำจากน้ำตกมาเป็นลำธารน้ำกระจายสู่แปลงเกษตรจำนวนมาก ผลผลิตนำมาใช้ในโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ฯลฯ

- ส.ต.อ.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อายุ 42 ปี โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่เหตุการณ์ความรุนแรงในระดับต้นๆ ของ จ.นราธิวาส โรงเรียนได้รับแต่งตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอ และได้รับการคัดเลือกเป็นต้นกล้าโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2553 รางวัลข้าราชการตำรวจดีเด่นต้นแบบ ปี 2550 ฯลฯ

สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 3 คน คือ

- น.ส.เกษร อินต๊ะทา ครูโรงเรียนบ้านทุ่งหลวง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ วัย 51 ปี เป็นครูสอนเด็กนักเรียนชาวเผ่ากะเหรี่ยงกว่า 31 ปี บนดอยสูง มีความคิดริเริ่มที่ดีในการบูรณาการสื่อการเรียนการสอนระหว่างภาษาปกากะญอ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ส่งเสริมชุมชนให้หันมาทำการเกษตรอินทรีย์ส่งโครงการหลวง ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ฯลฯ

- นายบรรเจิด ถาบุญเรือง ครูโรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน อายุ 33 ปี ได้รับรางวัลครูดีในดวงใจปี 2552 จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ริเริ่มโครงการห้องเรียนเคลื่อนที่บ้านหนองผาจ้ำ และมีความตั้งใจขยายห้องเรียนเคลื่อนที่อีก 1-2 แห่ง เพื่อช่วยให้เด็กบนดอยไม่ต้องเดินทางลงมาและอาสาสมัครขึ้นไปสอนบนดอยสูง ออกแบบนวัตกรรมตาราง 9 ช่อง และมีตัวเลขวางบนพื้น เพื่อช่วยเหลือเด็กออทิสติกในโรงเรียนให้มีพัฒนาการในการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ฯลฯ

- นางสิริถาวร ดิศรพงศ์ ครูโรงเรียนบ้านสะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี อายุ 54 ปี ได้รางวัลครูเกียรติยศที่ 1 สาขาภาษาไทย ปี 2552 รางวัลครูดีในดวงใจ ปี 2551 ได้จัดทำสื่อการเรียนการสอนชื่อ "สิริถาวร" โมเดล ในกลุ่มสาระภาษาไทยที่คิดค้นเอง และทดลองให้ครูที่โรงเรียนนำไปสอนเด็ก โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนของนักเรียนเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น: