วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทบาท องค์การค้าของ สกสค.

ต้องรักษามาตรฐานการผลิตและรับมือการผลิตสื่อเสรี
รมว.ศธ.กล่าวว่า องค์การค้าของ สกสค.หรือชื่อเดิมคือองค์การค้าของคุรุสภา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๓ ซึ่งจะครบรอบ ๖๐ ปีในปีนี้ โดยช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ผลิตจำหน่ายสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ทางการศึกษามาตามลำดับ จากช่วงแรกของการก่อตั้งโรงพิมพ์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย แต่ช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาได้รับทราบข้อมูลว่า โรงพิมพ์ไม่ทันสมัย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตหนังสือลดลง

อย่างไรก็ตาม บทบาทที่สำคัญขององค์การค้าฯ คือ จะต้องรักษามาตรฐานการผลิตสื่อทางการศึกษาและหนังสือเรียนไว้ให้ได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลองค์การค้าฯ จะต้องทำหน้าที่ดูแลขวัญกำลังใจของบุคลากร ร่วมดูแลขับเคลื่อนกับหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาการศึกษา เพราะสื่อการศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา โดยเฉพาะแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ได้ระบุให้การผลิตสื่อต้องเกิดการแข่งขันกันโดยเสรี จึงต้องวางแผนพัฒนาองค์การค้าฯ ให้ทันสมัย รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคเอกชนที่จะเข้ามาแข่งขันในการผลิตสื่อและหนังสือเรียนมากขึ้น

เผยองค์การค้าฯ เป็นหน่วยงานภายใน สกสค.จึงสามารถตั้งงบประมาณเองได้
รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้ติดตามการดำเนินงานและรับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นขององค์การค้าฯ มาโดยตลอดตั้งแต่เป็นช่วงฝ่ายค้าน และไม่ประสงค์ที่จะให้ข่าวในเชิงที่ไม่ออกมาเป็นบวก แต่ยังคงให้กำลังใจมาโดยตลอด จนกระทั่งช่วงที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีก็ได้เร่งรัดให้ สพฐ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เร่งจัดทำต้นแบบหนังสือเรียนให้เสร็จสิ้นเพื่อส่งให้โรงพิมพ์จัดพิมพ์ได้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จที่สามารถผลิตหนังสือ ๔๕ ล้านเล่มทั้งหลักสูตรเก่าและหลักสูตรใหม่ได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนอย่างแน่นอน

อีกส่วนหนึ่งที่มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น คือ การดำเนินการตามแนวคิดของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ความเห็นว่าองค์การค้าฯ เป็นหน่วยงานภายในของ สกสค.ที่สามารถจัดตั้งงบประมาณเองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างขวัญกำลังใจในหน่วยงาน มีกระบวนการต่างๆ ที่จะพัฒนาแท่นพิมพ์ ร้านค้าศึกษาภัณฑ์ทั่วประเทศ ให้มีหน่วยกำไรที่สามารถชี้วัดได้อย่างชัดเจน

มอบนโยบายให้เน้นคุณภาพ-ประสิทธิภาพ-ธรรมาภิบาล
โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้มอบแนวคิดเชิงนโยบายให้องค์การค้าฯ นำไปพิจารณาดำเนินการใน ๓ ข้อ คือ ๑) การยึดหลักคุณภาพเป็นตัวตั้ง โดยเน้นการผลิตหนังสือเรียนให้มีมาตรฐานสูงกว่าที่อื่น เช่น ใช้กระดาษในการจัดพิมพ์ดีกว่าที่อื่น ใช้หมึกพิมพ์ที่มีสารตะกั่วน้อยกว่าที่อื่น ๒) ประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งจะต้องปรับปรุงเครื่องมือ มีแนวทางการพัฒนาคนในองค์กรเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการผลิตและพัฒนาสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพ ๓) ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยต้องยอมรับความเป็นจริงที่จะให้มีการตรวจสอบความโปร่งใส หรือการที่จะมีคู่แข่งผลิตจำหน่ายมากขึ้นนั้น อาจจำเป็นต้องมีการโปรโมทตัวเอง แต่ก็ต้องระมัดระวังที่จะไม่ให้มีการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม

เน้นให้สถานศึกษาระวังหนังสือปลอม หากพบทำเป็นขบวนการจะให้ DSI เข้ามาดูแล

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงประเด็นการปลอมแปลงหนังสือเรียนด้วยว่า มีการนำต้นฉบับหนังสือเรียนไปสแกน ซึ่งไม่ได้วางขายหน้าร้าน แต่นำไปส่งมอบให้ที่สถานศึกษาต่างๆ จึงขอฝากให้ สพฐ และ สสวท.ช่วยพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และหากมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก องค์การค้าฯ ควรเรียกสำนักพิมพ์เอกชนที่อยู่ในเครือข่ายคู่สัญญาของ สพฐ. ให้มาเป็นคู่เสียหายด้วย ส่วนสถานศึกษาที่ต้องการสั่งซื้อหนังสือเองโดยตรงนั้น สามารถเลือกซื้อเองได้ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด แต่ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่จะต้องตรวจสอบหนังสือเรียนด้วยว่าไม่ใช่เป็นหนังสือปลอม เพราะมีผลโดยตรงกับนักเรียน เช่น คุณภาพของกระดาษ นอกจากนี้ สกสค.จะต้องประสานกับตำรวจด้านเศรษฐกิจให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง หากพบว่าผู้ใดมีส่วนในการทุจริตในเรื่องนี้ ก็จะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และหากพบว่ามีการทำเป็นขบวนการ จะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาถอนรากถอนโคนขบวนการทุจริตนี้ต่อไป

โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้ตัดริบบิ้นปล่อยคาราวานรถส่งหนังสือเรียนสู่สถานศึกษาจำนวน ๔๕ ล้านเล่ม ทั้งหลักสูตรเก่าและหลักสูตรใหม่ ซึ่งปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จที่สามารถจัดพิมพ์ จำหน่าย และจัดส่งหนังสือเรียนกระจายสู่สถานศึกษาได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน.

ไม่มีความคิดเห็น: