วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลาง เพื่อพัฒนาการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งมีแผนที่จะดำเนินการให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยมีเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน

โดยในปีการศึกษา ๒๕๕๓ จะจัดทำแนวทาง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดำเนินการที่จะทำจุดมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน หลังจากนั้นก็จะได้ทำ Workshop เพื่อที่จะดำเนินการในการที่จะนำหลักสูตรแกนกลางมาใช้อย่างแท้จริงจะได้มีการบูรณาการหลักสูตรแกนกลางให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอน การประเมินผล

โดยเฉพาะสนองตอบต่อเป้าหมายที่ต้องการเห็นการจัดการศึกษาในอนาคตนั้น ต้องเป็นการจัดการศึกษาที่ให้เด็กได้มีการพัฒนาทุกด้าน (เก่ง ดี มีความสุข) ทั้งเป็นส่วนที่มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน (ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่ดี คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น มีศีลธรรม คุณธรรม มีความเป็นพลเมือง ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)

เป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน จะต้องมีจุดเน้นที่ชัดเจน ดังนี้

ช่วงชั้นที่ ๑ (ป.๑ ถึง ป.๓) เน้นสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเป็น เพื่อที่จะได้มีความรู้ความสามารถ ที่เป็นพื้นฐานในการที่จะศึกษาต่อ

ช่วงชั้นที่ ๒ (ป.๔ ถึง ป.๖) เน้นในเรื่องการอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง มีทักษะความคิด มีทักษะชีวิต เป็นการพัฒนาจากทักษะพื้นฐานในเรื่องการเรียนรู้ขึ้นมาในระดับหนึ่ง

ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑ ถึง ม.๓) เน้นให้มีทักษะความคิดขั้นสูง มีทักษะชีวิต มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ร่วมกัน

ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๔ ถึง ม.๖) มุ่งเน้นที่จะให้ได้พลเมืองยุคใหม่ที่แท้จริง หมายถึง ผู้เรียนที่จะสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ต้องมีทักษะการคิดขั้นสูง มีทักษะชีวิตในสังคมในระบอบประชาธิปไตย สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ สามารถใช้เทคโนโลยี แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า จะได้มีการประสานงานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณา เพราะต้องการเห็นคุณสมบัติของเด็กไทยตามจุดเน้นในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การขับเคลื่อนใช้หลักสูตรแกนกลางนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรหลักใน ศธ.ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการให้เกิดผลอย่างจริงจัง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: