วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"แผนที่จิตใจ" หรือ Mind maps

แผนที่ จิตใจ หรือ Mind maps เป็นวิธีการในการนำเสนอ "ความคิด" หรือ "คำสำคัญ" ให้ออกมาเป็นภาพหรือกราฟิกที่มองเห็นได้ เป็นวิธีการที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนและการสื่อความคิด สรุปความคิด สรุปบทเรียนมานับพันปีแล้ว ปัจจุบันมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้วิธีการนี้ทำให้สามารถนำเสนอ ความคิด หรือ คำสำคัญ ในเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยมีชื่อของโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลากหลายที่ใช้แนวคิดการทำงานของ Mind maps และมีการตั้งชื่อที่ใช้คำว่า Mind และคำว่า Map ทั้งให้พ้องรูปและพ้องเสียง หรือ คล้ายกันเช่น My Map หรือ ใช้ตรง ๆ Mind Map เลยก็มี แต่สาระสำคัญคือ เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ ซอฟต์แวร์ อันหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการทำงานในลักษณะนี้ สำหรับภาษาไทยที่ใช้คำว่า "แผนที่จิตใจ" นั้นผู้เขียนเลือกใช้คำนี้เพราะน่าจะตรงกับความหมายมากที่สุดในขณะที่เขียน เรื่องนี้

ดังนั้นในปัจจุบัน "แผนที่จิตใจ" หรือ Mind maps จึงเป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอคำสำคัญ ความคิด ภารกิจ หรือสิ่งใด ๆ ที่มีความเชื่อมโยงอยู่รายรอบกับ "ความคิดหลัก" หรือ "คำสำคัญ" นั้น โดยให้อยู่ในรูปของ แผนภาพ หรือ Diagram ที่สามารถเข้าใจได้ด้วยการมองเห็นด้วยตาเนื้อ

วิธีการอีกอย่างหนึ่ง ที่คล้ายกันกับ Mind maps คือ Concept maps หรือ "แผนที่ความคิด" เป็นแผนภาพ หรือ Diagram ที่แสดงความสัมพันธ์ของความคิดต่าง ๆ เป็นเครื่องมือกราฟิกอย่างหนึ่งที่ใช้สำหรับจัดระเบียบ และ นำเสนอองค์ความรู้ เทคนิควิธีการนี้เรียกว่า Concept Mapping ใช้เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งสำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศและ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้ Unified Modeling Language (UML) นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นอีกที่มีความคล้ายกัน เช่น Topic map และ Road map เป็นต้น

การใช้ "แผนที่จิตใจ" หรือ Mind maps

การนำ วิธีการ "แผนที่จิตใจ" เสนอความคิดออกมาให้มองเห็นได้นั้น สามารถทำได้โดยการใช้ดินสอและกระดาษซึ่งเขียนด้วยลายมือ หรือพัฒนาไปสู่การใช้คอมพิวเตอร์ก็ตาม ล้วนเป็นการใช้ในฐานะที่เป็น "เครื่องมือ" หรือ Tools ทั้งสิ้น ดังนั้นเครื่องมือเหล่านั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้เป็นสำคัญ

การที่วิธีการนี้เป็นวิธีการที่เรียกว่า "แผนที่จิตใจ" นั้นแสดงให้เห็นการสะท้อนภาพออกมาจากจิตใจของผู้ที่ต้องการสื่อสารให้ผู้ อื่นรับรู้ ซึ่งเป็นการนำเสนอสาระที่มาจากการระดมสมอง การใช้กระบวนการกลุ่มด้วยวิธีการต่าง ๆ จนถึงการใช้จินตนาการ และการคาดหมายตามความคิดหรือความเข้าใจของผู้ต้องการนำเสนอ

องค์ประกอบสำคัญของการนำเสนอด้วย "แผนที่จิตใจ" จึงตั้งอยู่บนฐานของความเห็น ความคิด เป็นสำคัญ โดยยังไม่เป็นการใช้ข้อมูลหรือความคิดที่เป็นจริงหรือพิสูจน์แล้วก็ได้ เพราะอาจใช้วิธีการ "แผนที่จิตใจ" นี้ในขั้นตอนของกระบวนการแสวงหาข้อสรุป หรือกระบวนการแสวงหาความรู้ความจริงต่อไป

วิธีการนี้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการทำงานเพื่อการระดมสมอง เสนอความคิด สรุปบทเรียน เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ เนื้อหา สาระ เวลา บุคคล รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันตามความเข้าใจในขณะนั้นเท่านั้น

ปัญหา การใช้เครื่องมือ "แผนที่จิตใจ" (Mind maps)

ปัญหาการใช้เครื่อง มือนี้แยกได้เป็น 2 ประการ ได้แก่ การใช้เครื่องมือในการทำงาน และการใช้เครื่องมือเพื่อการเสนอแผนที่จิตใจต่อสาธารณะ

ประการแรก : ปัญหาการใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานมีดังนี้

1. ผู้ใช้โปรแกรมอาจไม่เชี่ยวชาญถึงเทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งข้อจำกัดและความสามารถที่มีอยู่ในโปรแกรม
2. ผู้ใช้อาจไม่เข้าใจสาระ ความคิดที่ต้องการสร้างแผนที่จิตใจอย่างถ่องแท้ ทำให้จัดวางความคิดหรือสาระในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง
3. ผู้ใช้อาจไม่เข้าใจระดับความสัมพันธ์อันซับซ้อนที่ไม่ใช่เป็นลักษณะเชิงเส้น จึงจัดวางความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง และไม่อาจจัดระดับความสัมพันธ์ในหลายมิติได้
4. เครื่องมือนี้ต้องสอดคล้องกับหลักการของ Mind maps ที่ต้องมีความคิดหลัก หรือสาระสำคัญเป็นศูนย์กลาง โดยมีปัจจัยหรือองค์ประกอบอื่น ๆ รายล้อม
5. การใช้เส้นเพื่อโยงความสัมพันธ์ต้องชัดเจนไม่สับสน และแฝงด้วยความสมเหตุสมผลและสอดประสานกัน

ประการที่สอง : ปัญหาการใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอต่อสาธารณะมีดังนี้

1. การใช้แผนที่จิตใจนำเสนอความคิดและประเด็นปัญหานั้น เมื่อทำแผนที่จิตใจเสร็จแล้วควรนำมาทบทวนในกลุ่มผู้ที่มีส่วนในการเสนอความ คิดเป็นอันดับแรก หลังจากทอดเวลาให้ผ่านไประยะหนึ่งประมาณ 2-3 วัน (ไม่นานกว่านั้น) เพื่อทบทวนและปรับปรุงแก้ไขให้เข้าใจตรงกันอีกครั้ง
2. เนื่องจากแผนที่จิตใจนั้น เป็นการสรุปย่อ ดังนั้นบุคคลที่ไม่อยู่ในกลุ่มการเสนอความคิดหรือกลุ่มที่มีสาระความรู้ เดียวกันจะไม่เข้าใจความเป็นมาและการจัดวางรวมทั้งการกำหนดตำแหน่งของกลุ่ม ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในแผนที่จิตใจ
3. การนำเสนอแผนที่จิตใจ ควรมีประเด็นเดียว เป็นประเด็นหลักและอยู่ตรงกลางของแผนที่ด้วย จึงจะทำให้เข้าใจได้ง่าย อย่าลืมว่า การเลือกวิธีการนำเสนอด้วยแผนที่จิตใจนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพราะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ อย่าทำให้เข้าใจยาก
4. การถอดรหัส ถอดใจความของแผนที่จิตใจ ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาก่อนเป็นอย่างดีทั้งใน เรื่องของวิธีการของแผนที่จิตใจ และในเนื้อหาสาระที่นำเสนอ จึงจะสามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง การตีความและถอดรหัสแผนที่จิตใจไม่อาจใช้สำนึกทั่วไปของวิญญูชนในการตัดสิน คุณค่าหรือตีความสาระที่อยู่ในแผนที่จิตใจได้อย่างถูกต้องเสมอไป
5. แผนที่จิตใจไม่สามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพกับการนำเสนอปัญหาที่มีความ ซับซ้อนเชิงโครงสร้าง เพราะข้อจำกัดในการนำเสนอนั้นไม่อาจแสดงถึงระดับของความสัมพันธ์ในหลายมิติ โปรแกรมแสดงความสัมพันธ์ได้เพียงมิติเดียวที่ไม่ซับซ้อนในโครงสร้างของความ คิดเท่านั้น

ดังนั้นการใช้เครื่องมือแผนที่จิตใจนี้และนำเสนอผลการ ใช้เครื่องมือนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างมากเพราะอาจถูกนำไปใช้อย่าง ไม่ถูกต้อง ผิดเจตนาและสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการตีความจากแผนที่จิตใจได้ รวมทั้งอาจนำไปสู่การวิพากษ์และโจมตีโดยใช้เพียงสามัญสำนึกของวิญญูชนและยก เหตุผลประกอบได้อย่างน่าเลื่อมใส ทั้ง ๆ ที่การตีความและถอดรหัสความเข้าใจกับแผนที่จิตใจนั้นไม่อาจใช้สำนึกปกติหรือ สามัญสำนึกได้อย่างถูกต้องเสมอไป แต่ต้องเป็นการใช้ความรู้ ความเข้าใจประกอบการตีความและถอดความรวมทั้งถอดรหัสที่อยู่ในแผนที่ด้วย

แต่การพิจารณาตัดสินคุณค่าของสาธารณะนั้นหรือแม้แต่ศาลยุติธรรมเอง โดยมากแล้วจะใช้ฐานสามัญสำนึกของวิญญูชนเป็นสำคัญ ผู้นำเสนอจึงต้องเตรียมตัวรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาอีกด้วย

อุทาหรณ์

ใน สนามแข่งขันยิงปืนระดับอุดมศึกษา นักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถามอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมยิงปืนว่า "ทำไมจึงต้องมีปืนหลายกระบอกหลายแบบ มีแบบเดียวไม่ได้หรือ มันก็ปืนเหมือนกัน ?" เป็นคำถามที่มีท่าทางแสดงถึงความอยากรู้อย่างบริสุทธิ์ใจ

อาจารย์ที่ ปรึกษาชมรมยิงปืนจึงได้ถามกลับไปว่า "ในบ้านเธอและในห้องครัวเธอมีมีดกี่เล่ม?" นักศึกษาตอบว่า "มีหลายเล่ม พ่อกับแม่ซื้อมามาก เป็นชุด ๆ เลย ก็มี" อาจารย์จึง อธิบายว่า "มีดแต่ละเล่มก็ใช้งานแต่ละอย่าง ถึงแม้จะมีมีดบางเล่มที่ใช้งานได้หลายอย่างแต่จะไม่ดีเท่ากับมีดที่ออกแบบมา สำหรับใช้เฉพาะงาน มีดปอกผลไม้ถ้าเอาไปใช้หั่นเนื้อ แล่เนื้อ หรือหั่นขนมปัง คงไม่ดีเท่ากับมีดที่ออกแบบมาสำหรับใช้หั่นเนื้อ หรือหั่นขนมปังโดยเฉพาะใช่ใหม"

นักศึกษายิ้มรับพยักหน้าและบอกว่า "อ้อ...เข้าใจแล้วค่ะ"

อาจารย์จึงอธิบายต่อไปว่า "ปืนที่มีหลายประเภท หลายชนิด และมีการแข่งขันยิงปืนหลายประเภทก็เช่นเดียวกัน เพราะแต่ละประเภทก็เหมาะกับงานแต่ละชนิด"

จากอุทาหรณ์ การเลือกเครื่องมือและใช้เครื่องมือในงานแต่ละประเภท ต้องเลือกประเภทและชนิดของเครื่องมือให้เหมาะกับงานจึงจะมีประสิทธิภาพ สูงสุด

สรุป

Mind maps จึงเป็นเครื่องมือที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในการนำไปใช้นำเสนอความคิดหรือ ประเด็นปัญหาที่มีปัจจัยแห่งความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนและมีความสัมพันธ์กันใน หลายระดับหลายมิติ โดยเพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้นำเสนอให้กับบุคคลทั่วไป เพราะข้อจำกัดของตัวโปรแกรมและข้อจำกัดของตัวผู้รับสารอาจทำให้เกิดความคลาด เคลื่อนในการสื่อความหมายได้ ถ้าสามารถมารถเลือกใช้วิธีอื่นหรือเครื่องมืออื่นนำเสนอน่าจะเป็นทางเลือก ที่ดีกว่า

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ที่มา : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: