วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การจัดตั้งเขต พท.มัธยม ยึด 41 ศูนย์ประสาน

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่เวทีใหม่สวนอัมพร นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการ “แนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ 3 ฉบับ” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ว่า ตนได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารสถานศึกษามัธยมศึกษา เตรียมการรองรับในการที่จะจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยยึดหลัก 41 ศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา (ศกม.) เดิมให้เป็นเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา ทำหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกให้แก่โรงเรียน และส่งเสริมให้โรงเรียนมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพในการบริหารงานมากขึ้น สำหรับการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนมัธยมศึกษานั้น จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขึ้นมาดูแลเฉพาะ จึงอยากให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่มัธยมฯใหม่ใช้ระบบคุณธรรมเข้ามาดูแลเพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่เพื่อนครูอย่างแท้จริง

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่กำลังมีการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 นี้ เขตพื้นที่การมัธยมศึกษาจะเป็นภาพแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ
1.จะได้เห็นการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้น
2.มีการผลิต พัฒนา และใช้ครูร่วมกัน เพราะต่อไปครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาอาจจะต้องผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กมีคุณภาพ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ กำลังคิดกันว่าต่อไปครูที่จะสอนในระดับ ม.ปลาย ควรจบหลักสูตร 4+2 คือ เรียนจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้วต่อวิชาครูอีก 2 ปี หรือ จบระดับปริญญาโท และ 3.มีการบริหารจัดการแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยบริหารงานและจัดการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้ ครูต้องเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ที่จะเน้นให้ครูเป็นผู้อำนวยการสอน เพื่อให้นักเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ว่าจะค้นหาความรู้ได้อย่างไร มากกว่าการเน้นสอนเนื้อหาสาระ

“เจตนารมณ์ของการตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา คือ ให้เป็นเขตประสานงาน ไม่ใช่การแบ่งเขตพื้นที่ตามจังหวัดเช่นเดียวกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับประถมศึกษาที่มีโรงเรียนเป็นจำนวนมาก เพราะบางจังหวัดมีโรงเรียนมัธยมศึกษาเพียง 5-7 โรงเรียนเท่านั้น ส่วนจะเพิ่มจำนวนเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลการดำเนินงานในเบื้องต้นก่อน” รมว.ศธ.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: