วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สพฐ.นำโมเดลการศึกษา 6 ประเทศ ต่อยอดปรับหลักสูตร ประเมินผล

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ. จะตั้งคณะทำงานรับผิดชอบการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล โดยใช้หลักสูตรแกนกลางปี 2551 เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งตนได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการ สพฐ. ศึกษารวบรวมองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฎิบัติมาเป็นพื้นฐานในการประชุมโต๊ะกลมเพื่อระดมความคิดด้านต่างๆ ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ โดยจะนำข้อมูลจากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของ 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อังกฤษ, นิวซีแลนด์ และ เยอรมนี โดยจะศึกษานำแนวทางการจัดหลักสูตร การวัดประเมินผล การสอนในกลุ่มสาระต่างๆ สัดส่วนการเรียน การจัดกิจกรรมเสริม เพื่อข้อมูลส่วนนี้จะเป็นตัวอย่างและข้อคิดในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ของไทย


นายชินภัทรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ อาทิ ผู้แทนจากจากมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักสูตร สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ผู้แทนสถานศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ สพฐ.จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยวิเคราะห์หลักสูตรแต่ละช่วงชั้นว่าจะมีจุดเน้นอะไรบ้างและจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม และจะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับมาตรฐานและตัวชี้วัด ซึ่งจะทำให้หลักสูตรมีความกระชับมากขึ้น นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว สพฐ.จะพิจารณาเรื่องการซ้ำชั้นด้วยว่าควรจะต้องทบทวนเรื่องนี้หรือไม่ เพราะปัจจุบันการปล่อยให้นักเรียนได้เลื่อนชั้นไปเรื่อยๆ จะเป็นการสะสมปัญหา ซึ่งหากนักเรียนไม่ผ่านในรายวิชาใดต้องมีการเรียนซ้ำหรือไม่ หรืออาจจะต้องมีโปรแกรมพิเศษสอนซ่อมเสริม เพื่อให้เด็กเรียนปรับพื้นฐานในระดับที่สูงขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: