วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชงโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.6 ปลาย มิ.ย

ความคืบหน้ากรณีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มีแนวคิดร่วมมือกับสถาบันการเงิน และบริษัทประกันภัย จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้แก่สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิก ช.พ.ค.ชั้นดี ซึ่งเป็นสมาชิกเกิน 10 ปี และมีวินัยทางการเงิน ไม่เคยค้างค่าสงเคราะห์ศพ โดยจะปล่อยเงินกู้เพดานสูงสุด 3 ล้านบาท ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยที่ MLR 5.70 และโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 เริ่มประมาณต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึง โดยมีการขยายวงเงินปล่อยกู้จากเดิมสูงสุดรายละ 600,000 บาท เป็น 1,200,000 บาท ซึ่งจะต้องมีการปรับเพิ่มการจัดเก็บเงินค่าสงเคราะห์ศพ จากศพละ 1 บาท เป็น 1.50 บาท หรือจากที่เก็บอยู่เดือนละประมาณ 400 บาท จะเพิ่มเป็น 600 บาท เพื่อรองรับกับการขยายวงเงินปล่อยกู้ที่สูงขึ้นดังกล่าว โดยการปล่อยเงินกู้ทั้ง 2 โครงการนี้ กำหนดให้สมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้ต้องทำประกันเงินกู้ด้วย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจากสังคมถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในประเด็นเป็นการกระตุ้นการสร้างหนี้สินให้กับครูเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งที่ปัจจุบันมีมูลค่าหนี้สินของครูทั่วประเทศรวมไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับจากสถาบันการเงินและบริษัทประกันภัยนั้น

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และประธานคณะกรรมการ สกสค. กล่าวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ว่า ในวันเดียวกันนี้ นายเกษม กลั่นยิ่ง เลขาธิการ สกสค. ได้มาพูดคุยกับตนเรื่องโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 แต่ยังไม่ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการมา ตนจึงได้มอบหมายให้นายเกษมไปจัดทำรายละเอียดโครงการทั้งหมดมานำเสนอ โดยเฉพาะในประเด็นว่า การจัดโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 ครูจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จะแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ตนให้ทำรายละเอียดผลการดำเนินโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. ตั้งแต่โครงการที่ 1-5 มานำเสนอเปรียบเทียบด้วยว่า โครงการเหล่านั้นได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูได้จริงหรือไม่ โดยตนได้มอบหมายให้เลขาธิการ สกสค.นำเสนอรายละเอียดต่างๆ ดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นตนจะนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้พิจารณาให้ความเห็น ตามที่ได้มอบนโยบายให้ตนมาดำเนินการตรวจสอบ

"แม้ว่าการจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ช.พ.ค. แต่การจะทำอะไรก็ต้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้พิจารณารายละเอียดต่างๆ ด้วยว่า เป็นประโยชน์กับครูจริงหรือไม่ จะมาทำโครงการเงินกู้กันโดยที่ไม่ให้คนอื่นทราบเรื่องด้วยไม่ได้ ผมคงไม่ยอม" ปลัด ศธ.กล่าว

ด้านนายวัฒนา วรรณโสภา รองเลขาธิการ สกสค. กล่าวถึงกรณีที่นางจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ นายกสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่าผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนต่างไม่เห็นด้วยกับการที่ สกสค.จะเก็บเงินค่าสงเคราะห์ศพเพิ่มขึ้นจากศพละ 1 บาท เป็นศพละ 1 บาท 50 สตางค์ หรือจากที่เก็บอยู่เดิมเดือนละประมาณ 400 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท เพื่อรองรับกับการขยายวงเงินปล่อยกู้ในโครงการปล่อยเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 สูงขึ้นจากรายละ 600,000 บาท เป็น 1,200,000 บาท เพราะจะส่งผลกระทบเป็นภาระกับครูโรงเรียนเอกชนจำนวนมาก ในยามวิกฤตเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน อีกทั้งสมาชิก ช.พ.ค.ทั้งที่เป็นครูเอกชนและข้าราชการบำนาญยื่นกู้เงินได้ยากด้วย เพราะหลักประกันไม่ชัดเจนว่า การเรียกเก็บเงิน ช.พ.ค.เพิ่มขึ้นนั้น แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะเห็นด้วย แต่ถ้ามีสมาชิกบางส่วนไม่เห็นด้วย ก็คงไม่สามารถจัดเก็บเพิ่มได้ อย่างในกรณีของครูโรงเรียนเอกชนดังกล่าว หากไม่เห็นด้วยจะให้เก็บเพิ่ม สกสค.ก็คงไปเก็บเพิ่มไม่ได้

"กรณีที่ว่า ทางสมาชิก ช.พ.ค.ที่เป็นครูโรงเรียนเอกชนจะไม่ค่อยได้รับการอนุมัติปล่อยเงินกู้นั้น ถ้าดูตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นเช่นนั้น เพราะดูด้านความมั่นคงแล้วจะไม่เท่ากับสมาชิกที่เป็นข้าราชการครู เพราะบางคนเป็นครูเอกชนไม่กี่ปีก็ลาออกไป จะตามหาตัวที่ไหนก็ไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการ ช.พ.ค.ก็เปิดโอกาสให้ครูเอกชนมายื่นกู้เงินได้ แต่จะมีเงื่อนไขมากกว่าข้าราชการครู เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องรับรอง และต้องมีข้าราชการค้ำประกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการ ช.พ.ค.ช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ จะนำแนวคิดเรื่องการปล่อยเงินกู้ในโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.6 เข้าพิจารณาในที่ประชุมด้วย พร้อมทั้งนำแนวนโยบายของนายชินวรณ์เกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ รวมทั้งข้อห่วงใยของหลายๆ ฝ่ายเข้าหารือด้วยว่า จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างไรหรือไม่" รองเลขาธิการ สกสค.กล่าว

ที่มา นสพ.มติชน 16 มิ.ย.53

ไม่มีความคิดเห็น: