วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นโยบายการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล


รมว.ศธ. กล่าวว่า โรงเรียนดีประจำตำบลมีเงื่อนไขหลัก ๓ ประการ คือ ๑.เป็นโรงเรียนในชนบทที่พร้อมจะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้สูงขึ้น ๒.เป็นโรงเรียนที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน มีประชาคม มีการทำ MOU กับท้องถิ่นอย่างชัดเจน โดย ผอ.สพท.จะต้องเป็นพี่เลี้ยงร่วมขับเคลื่อนให้ MOU เกิดขึ้นจริง และ ๓.สามารถดึงนักเรียนในเขตพื้นที่บริการและบริเวณตำบลใกล้เคียงมาเรียนในโรงเรียนดีประจำตำบล รวมทั้งเชิญชวนโรงเรียนคู่เคียงมาเรียนในโรงเรียนดีประจำตำบลเพิ่มขึ้น เมื่อโรงเรียนได้รับการคัดเลือกเพื่อยกระดับเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล และได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้เกิดความพร้อมทางด้านกายภาพ มีภารกิจที่จะต้องดำเนินการ ๓ ด้าน ดังนี้

ด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ จะต้องได้รับการดูแล ปรับปรุง แก้ไข ภายใต้เงื่อนไขรายละเอียดในการของบประมาณ ทำให้ชุมชน ท้องถิ่นหรือประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียง ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น รั้ว เส้นทางเข้าออก ทางเดิน จำนวนต้นไม้ภายในโรงเรียน ฯลฯ

ส่งเสริมให้มีห้องสมุด ๓ดี มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เป็นโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก และเมื่อมีความพร้อมก็อาจจะสร้างศูนย์กีฬาและสระว่ายน้ำเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

จัดหาครูที่จบวิชาเอกในสาขาที่ตรงกับวิชาที่สอนใน ๕ กลุ่มสาระวิชาในอนาคต ถ้าโรงเรียนดีประจำตำบลประสบความสำเร็จ ผู้ปกครองก็จะส่งบุตรหลานมาเรียนเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะแก้ปัญหาด้านคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนครูได้ด้วย ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องทุ่มเท ทั้งด้านงบประมาณและการบริหารจัดการที่ดี โดยขอให้ สพฐ.เตรียมการรองรับและบริหารจัดการครูที่อยู่ในโรงเรียนที่ถูกยุบหรือมีจำนวนนักเรียนลดลง

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ขอให้ ผอ.สพท.และ ผอ.โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง ๗๘ โรงเรียน มีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับโรงเรียนของตน โดยใช้หลักการบริหารจัดการที่ดีในการเดินหน้าขับเคลื่อนโรงเรียนดีประจำตำบลให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงด้านกายภาพ มีครูที่ดี สามารถดึงนักเรียนในเขตบริการและตำบลใกล้เคียงมาเรียนเพิ่มขึ้น ตอบสนองต่อเด็กด้อยโอกาสประเภทอื่น เช่น เป็นโรงเรียนที่รับเด็กที่มีปัญหาทางด้านร่างกายมาเรียนร่วม ไม่ว่าจะเป็น ตา หู อวัยวะ หรือสมอง ต้องดูแลเด็กเหล่านี้ด้วย สำหรับโรงเรียนอีก ๑๘๒ โรงเรียน ขอให้ ผอ.สพท. และ ผอ.โรงเรียนที่เข้าสู่กระบวนการบยกระดับแล้ว ช่วยสานให้ด้วย แม้โรงเรียนเหล่านี้จะยังไม่เข้าเงื่อนไขที่กำหนด เชื่อว่าสามารถใช้การบริหารจัดการ ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนได้

รมว.ศธ.มั่นใจว่า ความตั้งใจในการเดินหน้าขับเคลื่อนโรงเรียนดีประจำตำบล จะช่วยตอบโจทย์เรื่องการสร้างโอกาส คุณภาพผู้เรียน และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: