วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ร.ร.บ้านวังจั่นปั้นหนอนหนังสือแก้ปัญหานักเรียนอ่านเขียนไม่คล่อง

ปัญหานักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่คล่อง ยังคงเป็นเรื่องหนักอกหนักใจของครูและผู้บริหารโรงเรียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโรงเรียนบ้านวังจั่น อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ลพบุรี เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดย นายอาทร บุญคุ้มครอง ผอ.โรงเรียนบ้านวังจั่น ระบุว่า ในปี 2549-2553 โรงเรียนได้สำรวจนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 ที่มีอยู่ประมาณปีละ 200 คน พบว่าโดยเฉลี่ยมีนักเรียนทุกระดับชั้นประมาณปีละ 25 คนที่มีปัญหาอ่านเขียนไม่คล่อง เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างเต็มที่

"การที่นักเรียนอ่านเขียนไม่คล่อง ทำให้เรียนวิชาอื่นๆ ได้ช้า และผลการเรียนตกต่ำ ผมได้นำเอากระบวนการจัดการความรู้ (เคเอ็ม) ซึ่งเน้นการส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านและสอนซ่อมเสริมมาใช้แก้ปัญหานี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ทำให้เด็กอ่านออก เขียนได้ ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพัฒนาให้เด็กมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ได้แก่ รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ รู้พอเพียง อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย ซึ่งปีนี้ได้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในวิชาภาษาไทยเน้นการส่งเสริมการอ่านให้ทุกวิชามีกิจกรรมการอ่านสัปดาห์ละ 1 คาบ" ผอ.อาทรแจกแจง

ผอ.อาทร อธิบายกระบวนการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านเขียนไม่คล่องว่า เริ่มจาก ”การพัฒนาห้องสมุดให้มีชีวิต” โดยได้รับงบประมาณปี 2553 จาก สพท.ลพบุรี เขต 1 จำนวน 6 หมื่นบาท อีกทั้งโรงเรียนจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าหนังสือและได้รับบริจาคหนังสือจากหน่วยงานรัฐและเอกชนและผู้ปกครอง ทำให้โรงเรียนมีหนังสือและสื่อประเภทต่างๆ มากมาย เช่น หนังสือเสริมความรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ เช่น ภาษาไทย สังคม หนังสือนิทาน และมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต 10 เครื่อง ไว้ให้เด็กๆ ใช้ค้นคว้าหาความรู้

ช่วงพักกลางวัน นักเรียนทุกชั้นเรียนจะเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ และมีตะกร้าใส่หนังสือไว้ให้เด็กนำไปนั่งอ่านตามต้นไม้ภายในโรงเรียน และมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและเขียนแบบรายสัปดาห์และเดือนไปจนถึงรายภาคเรียนและปีการศึกษา เช่น กิจกรรมยอดนักอ่าน ยอดนักเล่านิทาน ประกวดคัดลายมือ เขียนเรียงความ ฯลฯ หลังเลิกเรียนได้ให้นักเรียนที่อ่านเขียนไม่คล่องมาเรียนเสริมกับครูทุกวิชาในทุกระดับชั้นสอนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

"เกือบ 5 ปีที่โรงเรียนใช้กระบวนการจัดการความรู้แก้ปัญหาเด็กอ่านเขียนไม่คล่อง พบว่าเด็กทุกชั้นเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเกือบทุกวิชาสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ตามเป้าหมายของเขตพื้นที่ ยกเว้นวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้จะต่ำกว่าเป้าหมายแต่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ชอบเข้าห้องสมุด ขยันเรียน มีความรับผิดชอบ มีวินัยมากขึ้น ส่วนครูก็กระตือรือร้นในการสอนเอาใจใส่เด็กมากขึ้น ครูหลายคนได้รับรางวัลครูดีเด่นของเขตพื้นที่ ขณะที่โรงเรียนได้รับรางวัล เช่น โรงเรียนต้นแบบการจัดการความรู้ (เคเอ็ม) ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โรงเรียนต้นแบบห้องสมุดมีชีวิตของสพฐ. โรงเรียนต้นแบบพัฒนาการอ่านของเขตพื้นที่" ผอ.อาทรบอกอย่างภาคภูมิใจ

ครูจรัล คำพานิชย์ ครูสอนวิชาภาษาไทยชั้น ป.1 อธิบายว่า การสอนเน้นกิจกรรมการอ่านและเล่านิทานโดยให้เด็กๆ ช่วยยืมหนังสือนิทานจากห้องสมุดมา 10 เล่ม เพื่อให้ครูอ่านให้เด็กฟังสัปดาห์ละ 1 เล่ม หลังจากนั้นก็ให้เด็กเขียนสรุปเรื่องย่อของนิทานที่ครูเล่าให้ฟัง เริ่มจากให้เขียนเป็นคำ ประโยคและเล่าเป็นเรื่องราว ทำให้เด็กได้ฝึกทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์และปลูกฝังคุณธรรม ขณะเดียวกันครูวิชาภาษาไทยแต่ละระดับชั้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนเทคนิคและสื่อการสอนระหว่างกันด้วย

ด.ญ.กัญญาพัชร เปลี่ยนทอง หรือน้องออย นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านวังจั่น บอกว่า ครูวิชาภาษาไทยให้ฝึกการอ่านเขียนโดยให้เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือช่วงพักกลางวัน เวลาเรียนในห้องครูก็อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง อีกทั้งให้นักเรียนอ่านนิทานแล้วออกมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งชอบการเรียนแบบนี้เพราะสนุกดีและได้รับการปลูกฝังคุณธรรม เช่น ความขยัน ซื่อสัตย์ สนใจเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านวังจั่น ติดต่อโทร.0-3670-6580, 08-7927-7791

ที่มา นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: