วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การประชุมสัมมนาสมาคมวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษาเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งประเทศไทย

รมว.ศธ.กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับการเยียวยาซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกและได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าภายหลังกฎหมายการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกปี ๒๕๔๒ ได้มีผลบังคับใช้แล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาไม่เป็นไปตามที่คิดเอาไว้ นอกจากนี้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้สนองตอบต่อการกระจายอำนาจตามที่คาดหวังเอาไว้ โดยเฉพาะการที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ต้องการเห็นสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล แต่ ๑๐ ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งรวมไปถึงการสอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น วันนี้เราจึงต้องมานั่งประชุมกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการกันอย่างไรเพื่อสอนให้คนไทยรู้จักวิธีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา การกำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ยังไม่ได้กำหนดตำแหน่งที่ชัดเจน ทำให้มี ผอ.สพท. ๔ กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับเงินเดือนในระดับ ค.ศ.๔ หรือเลื่อนเป็นระดับ ๙ มาก่อน กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มาจากตำแหน่งอื่นๆ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีวิทยฐานะติดตามตัวมาก่อนมาเป็น ผอ.เขตฯ กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่มาจากรอง ผอ.สพท.ที่สอบได้ โดยมีวิทยฐานะติดตามตัวมา และกลุ่มสุดท้ายคือรอง ผอ.สพท.ที่สอบได้ แต่ไม่มีวิทยฐานะติดตามตัวมา กลุ่มนี้ต้องมาดูแลต่อไป ซึ่งจะเห็นว่าตำแหน่ง ผอ.สพท.ยังไม่เป็นเอกภาพ จึงต้องการทำให้เป็นมาตรฐานตำแหน่งเหมือนกันต่อไป

ทั้งนี้ ต้องการให้ทุกท่านมีส่วนร่วมกันปรับปรุงพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลของ ศธ. จึงขอฝากให้ สพฐ.และ ก.ค.ศ.ไปพิจารณาปรับปรุงระบบค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ โดยดูว่าเราจะใช้วิธีการใดที่จะปรับปรุงให้เพื่อนครูและบุคลการทางการศึกษาได้ ไม่ควรใช้คำตอบเหมือนเดิมว่าจะนำกฎหมายข้าราชการพลเรือนมาบังคับใช้โดยอนุโลม เพราะหากคิดเช่นนั้นก็คงไม่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ แต่ต้องการให้คิดและทำนอกกรอบ

ตนยืนยันว่าหากมีส่วนใดให้เพื่อนครูมีขวัญกำลังใจ มีมาตรฐานทางวิชาชีพสูงขึ้น จะทำอย่างเต็มที่ โดยจะระดมสรรพกำลังทุกอย่างเพื่อดูแลอย่างเป็นระบบ และจะไม่คิดอะไรแบบแยกส่วน เพื่อจะให้มีพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องการที่จะจัดระบบตำแหน่งออกจากระบบข้าราชการพลเรือน เช่นเดียวกับ ศธ.จึงเป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบถึงการจัดระบบตำแหน่งอย่างไรให้นอกกรอบจากที่เคยเป็นมาแล้ว และในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๔ รัฐบาลได้วางแผนว่าจะมีการปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ข้าราชการมีเงินเดือน รายได้ต่างๆ สูงขึ้นด้วย

โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้รับมอบหนังสือข้อเสนอแนวทางการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาจากนายสำเนียง กุญชรินทร์ นายกสมาคมฯ ซึ่งได้นำเสนอข้อสรุปจากผู้บริหารการศึกษาทั้ง ๔ ภูมิภาค ที่ต้องการให้แบ่งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาเป็น ๗๖ เขตพื้นที่ตามเขตจังหวัด และแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเป็นเขตอำเภอ โดย รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.ได้เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการ ๓ ชุดเพื่อดำเนินการรองรับกฎหมายในการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาคือ คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างเพื่อเตรียมจัดตั้งเขตพื้นที่ประถม-มัธยมฯ คณะกรรมการจัดบุคลากรเข้าสู่เขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะดูรายละเอียดทั้ง ๑๘๕ เขตประถมฯ และ ๔๑ เขตมัธยมฯ ที่ได้วางแผนเตรียมการไว้แล้ว อย่างไรก็ตามการพิจารณาตามข้อเสนอของสมาคมฯ ศธ.จะนำมาพิจารณาในเชิงนโยบายต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตั้งเขตพื้นที่การศึกษา และคุณภาพการศึกษาต่อไป.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในความคิดเห็นของกระผมนะครับ การตั้งเขตฯขึ้นใหม่เพื่อรองรับการบริหารงาน ที่ควรแยกกันมานาน แต่ก็ไม่ทำสักที ทำให้เกิดการลักหลั่น กันมานาน เป็นผลสะสมมาเรื่อยๆ ทางมัธยม ก็สูญเสียอำนาจ จึงทำให้มีการดิ้นรนออกไปอยู่กับทาง อบจ.บ้าง อยากเป็นเขตของตัวเองบ้าง แล้วแต่คิด โดยการกล่าวอ้างไปที่ตัวของนักเรียนไม่เกิดการพัฒนา ในทางเดียวกันแยกออกไปแล้วพวกท่านก็ไปยิ่งใหญ่ โดยมองที่อำนาจของตนเองมากกว่าที่จะนำไปสู่การพัฒนาไปที่นักเรียนดังจะเห็นได้ว่ามีการสอนพิเศษในโรงเรียนระดับมัธยมและเก็บเงิน กันเป็นล่ำเป็นสัน แล้วสร้างภาระให้กับผ้ปกครอง จริงๆแล้วได้อะไรจากการแยกเขตฯ นอกจาก ตำแหน่งเพิ่มขึ้น สุดท้ายซึ่งในมุมมองของผมมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่น่าจะคุ้มค่าใดๆเลย แต่ก็ยินดีที่มีการแยกเขตฯครับ