วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การกำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับต้น

(22มิ.ย.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งใหม่ โดยให้ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ แต่เนื่องจากเมื่อครั้งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยแบ่งหน่วยงานออกเป็น 5 องค์กรหลักตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2542 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

โดยแต่ละองค์กรหลักมีการกำหนดตำแหน่ง เลขาธิการ มีฐานะเทียบเท่าตำแหน่งปลัด ศธ. และตำแหน่ง รองเลขาธิการ มีฐานะเทียบเท่ารองปลัด ศธ. ซึ่งทั้งหมดเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อ ก.พ.มีการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งใหม่นั้นจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่ง ผอ.สำนักทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งระดับที่สูงขึ้น เช่น ผู้ตรวจราชการ หรือตำแหน่งผู้บริหารในระดับ 10ได้

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ที่ประชุมได้มีการเสนอให้กำหนดตำแหน่งบริหารระดับต้นขึ้น ขณะเดียวกันทาง สพฐ. ได้เสนอแนวทางการขอกำหนดตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ 5 ด้าน คือ ผู้ช่วยเลขาธิการด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านบริหารบุคคล ด้านบริหารทั่วไป และด้านการศึกษาพิเศษ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการอภิปรายในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางมาก จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่จะประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับ สพฐ.นั้นไปศึกษาข้อมูลว่าในหน่วยงานของตนนั้นควรจะมีตำแหน่งผู้บริหารระดับต้นอะไรบ้าง และให้เสนอต่อคณะอนุกรรมการ ก.พ.ของแต่ละหน่วนงานพิจารณาเพื่อขอกำหนดตำแหน่งของ ศธ.ให้เป็นระบบเดียวกัน นอกจากนี้ได้สั่งการให้ สป.ศธ.ไปรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ.เพื่อให้ช่วยหาทางออกแก่กระทรวงต่อไป

ที่มา นสพ.คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: