วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไร้สัญชาติ แต่ไม่ไร้สิทธิทางการศึกษา

วันที่ 21 – 22 มิถุนายน 2553 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดสัมมนาเรื่อง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าวและแรงงานเด็กข้ามชาติ : จากนโยบายสู่การปฏิบัติก้าวที่ผ่านมาและก้าวต่อไป ณ ห้องประชุมธาราทิพย์ โรงแรมอิมพีเรียล ธารา กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัญหาและประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างชาติ ในแต่ละพื้นที่ และในภาพรวมที่เหมาะสม
นางสาววัฒนา อาทิตย์เที่ยง ผอ.สำนักงานนโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและโอกาสทางการศึกษา สกศ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาต่างอพยพเข้ามาอาศัย และทำงานในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 2แสนคน ขาดเอกสารแสดงตนหรือการมีสถานะบุคคลตามกฎหมายของบิดามารดาต่างด้าว ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงการบริการทางสังคม และการเข้ารับการบริการการศึกษาของเด็กเหล่านี้ด้วยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548ได้ให้ความเห็นชอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 เพื่อให้เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร รวมทั้งให้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่คนกลุ่มนี้ในอัตราเดียวกับเด็กไทย
ด้านนายทองสุข อยู่ศรี ผอ.สพท.ตาก เขต 2 กล่าวว่า พื้นที่ สพท.ตาก เขต 2 มีนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์กว่า 10,308 คนทั้งที่เป็นเด็กไทย เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ และเด็กไร้สัญชาติ คิดเป็นร้อยละ 26.42 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด จึงทำให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าวขึ้น 61 ศูนย์ จัดเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ให้เด็กต่างด้าวเรียนในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนตามปกติ ศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลช่วยเหลือด้านวิชาการ ส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนที่มีความพร้อมเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบ และศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าวขององค์การเอกชน แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างทัศนคติให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนที่อยู่บริเวณรอบศูนย์ การอยู่ร่วมกันและการเรียนร่วมกันของเด็กต่างด้าวกับเด็กในพื้นที่
ในขณะที่ บาทหลวง ดร.รังสิพล เปลี่ยนพันธุ์ เลขาธิการสังฆมณฑลนครสวรรค์ เห็นว่า เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กไร้สัญชาติหรือไม่มีผลต่ออนาคตและความมั่นคงของประเทศชาติ และถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าควรให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจและสนับสนุน การจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้วยโอกาส เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายและนโยบายรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้ต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพลภาพและผู้ด้วยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งตนเองได้ และกำหนดให้เยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการจัดการศึกษาอบรมจากรัฐโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เด็กชนกลุ่มน้อย เด็กที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เด็กไร้สัญชาติ เด็กที่ไม่มีสูติบัตรหรือหลักฐานทางทะเบียนราษฎร เป็นเด็กด้อยโอกาส 1 ใน 6 กลุ่ม ที่กำหนดไว้ในนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส “การศึกษา” จึงเป็นทั้งความหวังของเด็กที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่า ขณะเดียวกันเป็นทางออกของรัฐบาลที่จะช่วยบ่มเพาะให้เด็กเหล่านี้เป็นคนดี มีคุณภาพ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม
"แม้ว่ากฎหมายจะรับรองสิทธิในการศึกษาของคนไร้สัญชาติไว้ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่บางส่วนยังมีอคติต่อคนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจต่อสังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เพื่อให้เข้าใจว่าสิทธิในการศึกษานี้เป็นสิทธิมนุษยชน บุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือแม้เป็นคนไร้สัญชาติ ย่อมมีสิทธิในการศึกษาเช่นเดียวกัน” บาทหลวง ดร.รังสิพล กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: