วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การประชุมสมัชชาผู้นำครู ๔ ภูมิภาค

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาผู้นำครู เรื่องการสร้างขวัญและกำลังใจครูและบุคลากรทางการศึกษา โครงการประชุมสัมมนาคณะกรรมการ สกสค.จังหวัด และองค์กรเครือข่าย มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๐๐๐ คน เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ที่หอประชุมคุรุสภา

รมว.ศธ.กล่าวว่า สมัชชาหมายถึงการเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้มีเสนอแนะความคิดเห็น ตลอดถึงมีส่วนร่วมคิดเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมีพลัง สิ่งสำคัญคือ ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างขวัญและกำลังใจของครู เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู ให้เป็นที่ยอมรับ ผลักดันกฎหมายส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูให้สะท้อนต่อการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู ให้ทุกคนได้เห็นว่า ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีมาตรฐานวิชาชีพชั้นสูง มีสวัสดิการและสวัสดิภาพที่ดี จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่ง รมว.ศธ.กล่าวย้ำเสมอว่าการปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ ต้องปฏิรูปครูให้ประสบความสำเร็จ

ดังนั้น สกสก.จะต้องเป็นองค์กรนำในการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู ส่วนคุรุสภาจะนำในเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุด คือการปฏิรูปครูให้มีมาตรฐานวิชาชีพที่สูงขึ้น จึงจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งมาเรียนครูได้ การมองอย่างครูจะเป็นการมองแบบองค์รวม ตั้งแต่การผลิตครู การพัฒนาครู การใช้ครู การส่งเสริมสวัสดิภาพครู การพัฒนาระบบค่าตอบแทนครู ซึ่ง สกสค.ต้องดำเนินการในประเด็นหลัก ๔ ประเด็น ดังนี้

สวัสดิการครู ต้องเร่งผลักดันสวัสดิการครูอย่างเต็มรูปแบบ ตามที่ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู ต้องมีความชัดเจนและดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควรคิดนอกกรอบเกี่ยวกับสวัสดิการของครู เพื่อให้ครูมีสวัสดิการที่เหนือกว่าอาชีพอื่น

สวัสดิภาพครู ซึ่ง สกสค.ได้ดำเนินโครงการในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสวัสดิภาพครูอย่างชัดเจน โดยเฉพาะครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในอนาคต สกสค.จะต้องขยายผลสวัสดิการ/สวัสดิภาพไปสู่ระดับภูมิภาค ซึ่ง รมว.ศธ.เชื่อว่าจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้กับ สกสค. และคุรุสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของ ศธ.ได้ จึงมอบหมายให้เลขาธิการวางแผนและกำหนดกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป การจัดสวัสดิภาพต้องมุ่งเน้นการพัฒนาให้สูงขึ้น นำไปสู่การสร้างเครือข่ายครูทั่วประเทศ สกสค.จะต้องดูแลในทุกจังหวัด โดยการเข้าไปสอดแทรกในกิจกรรมทุกกิจกรรม ตั้งแต่เกิดเป็นครูจนถึงตาย

มาตรฐานวิชาชีพครู คุรุสภาจะต้องจัดสอบผู้ที่จะมาเป็นครูอย่างเข้มข้น ผู้ที่ต้องการเป็นครูจะต้องผ่านการรับรองจากคุรุสภา เพื่อให้มีเกียรติและเชื่อถือได้ว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง

โครงการพัฒนาชีวิตครู ศธ.มีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวนกว่า ๗๐๐,๐๐๐ คน มีเงินหมุนเวียนจากเงินเดือนครู หนี้สินครู เงินออมครู รวมทั้งมีทุนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ เป็นมันสมองที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาชีวิตครูได้ทั้งระบบ จึงได้ตั้งคณะทำงานซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีคณะทำงานจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชีวิตครู หนี้สินครู โดยมีกำหนดรวบรวมข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดระบบการพัฒนาชีวิตครู ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓

รมว.ศธ.กล่าวถึงธนาคารครูว่า เป็นกรอบความคิดที่ได้จากข้อเสนอของครู เพราะครูมีเงินออมที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นจำนวนมาก และมีหนี้สินจำนวนกว่าแสนล้านบาท ถ้า สกสค.ได้หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก็จะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนดอกเบี้ยราคาถูกและสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การบริหารจัดการหนี้สินและเงินออมของครูอย่างเป็นระบบ การระดมเงินออม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทำให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินไปสู่การสร้างสถาบันการเงินครู อาจจะเป็นธนาคารครูในธนาคารออมสิน แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการขอความร่วมมือเพื่อพัฒนาชีวิตครูอย่างเป็นระบบ ซึ่งผู้นำครูที่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ก็มีความคาดหวังว่า ครูจะมีสวัสดิการและสวัสดิภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งมีความพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้สูงขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: