วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การฝึกให้เด็กได้ปฏิบัติจริงนอกเหนือจากตำราเรียน

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง โดยได้พิจารณาร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง เสนอให้จัดทำเป็นนโยบายสาธารณะของโรงเรียนหรือของชุมชน เน้นให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติจริงนอกเหนือจากการกำหนดไว้ในหลักสูตร

รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ.ได้รับมอบหมายจากนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาที่มุ่งปลูกฝังคุณธรรมความเป็นมนุษย์ ความเป็นพลเมือง นอกเหนือจากความรู้ด้านวิชาการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อให้เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พร้อมทั้งผลักดัน ขับเคลื่อน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งติดตามประเมินผลการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองซึ่งควรมีวิธีการที่หลากหลาย นอกเหนือจากการกำหนดไว้ในหลักสูตร ซึ่งตนจะได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.)โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต่อไป

ด้านศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการที่ปรึกษา กล่าวว่า พลเมืองคือผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของเมือง เห็นเรื่องของเมืองเป็นเรื่องของตนเอง ไม่ใช่เห็นเรื่องของเมืองเป็นเรื่องของคนอื่น ซึ่งปัจจุบันการศึกษาของเราไปเน้นการเรียนรู้ในห้องเรียนมากเกินไป เด็กไม่เคยปฏิบัติจริง

สิ่งสำคัญประการที่ 1 คือ ต้องให้เด็กได้ปฏิบัติจริงทั้งชั้นเรียนและจะต้องทำร่วมกับชุมชน กับชาวบ้าน กับพระ โดยจัดทำเป็นนโยบายสาธารณะของโรงเรียนหรือของชุมชน

ประการที่ 2 คือ การสร้างทัศนคติร่วมกันในการทำประโยชน์เพื่อสังคม เช่น นโยบายสาธารณะต่างๆ ปลูกฝังและส่งเสริมทัศนคติที่ดี มีจิตอาสาดี จิตประชาธิปไตย ประการสุดท้าย คือ มีกระบวนการที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือเครือข่าย (net work) เพราะว่านโยบายสาธารณะไม่สามารถทำได้สำเร็จแค่เพียงคนเดียว

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า การเคารพผู้อื่น เคารพกติกา ก็คือการเคารพสิทธิ เคารพความเสมอภาค และเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน ในรัฐธรรมนูญมาตรา 28 กล่าวว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งน่าจะมีในตำราเรียน แต่ปรากฏว่าไม่พบ และหากจะถามผู้ใหญ่ก็คงมีจำนวนมากที่ไม่ทราบในข้อนี้ จึงจำเป็นจะต้องใส่เรื่องนี้เข้าไปเพื่อให้เข้าใจว่าสิทธิทุกอย่างที่เรามีตามรัฐธรรมนูญ จะใช้ได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การแข่งขันฟุตบอล คือคน 2 กลุ่มแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของประโยชน์ เพราะทีมหนึ่งเตะบอลเข้า อีกทีมหนึ่งก็เสียประโยชน์ แต่ทำไมยังแข่งขันกันได้ นั่นก็เพราะว่าเขาใช้กติการ่วมกัน ซึ่งตัวผู้เล่นก็จะต้องเคารพกติกาด้วย เห็นได้ชัดถึงแม้ว่าประโยชน์จะสวนทางกันแต่ถ้าเคารพกติกาบ้านเมืองก็เดินไปได้ โดยไม่ต้องใช้กำลังแก้ปัญหา

ไม่มีความคิดเห็น: