วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการพัฒนาชีวิตครู

รมว.ศธ.กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ของ สกสค. ที่ได้ดำเนินการมาในช่วงปีงบประมาณ ๒๕๕๓ มีหลายโครงการ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาภาระทางการเงินของครูและบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาชีวิตครูด้วยการสร้างวินัยทางการเงินโดยการอบรมและพัฒนาจิตใจให้ความรู้เรื่องการบัญชีรายรับ-รายจ่าย การจัดคลินิกการเงินเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเงินแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน ๑๘ จังหวัด การสำรวจสภาพเศรษฐกิจและการเงินของข้าราชการของครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ ราย การติดตามหนี้ค้างชำระ จำนวน ๑๙๘ ล้านบาทของสินเชื่อคงเหลือ การพัฒนาส่งเสริมวิชาชีพและวิทยฐานะเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต การจัดทำวิจัยโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาชีวิตครูแนวใหม่ การพัฒนาและบริหารจัดการการเงินอย่างมีศิลปะร่วมกับธนาคารออมสิน

รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำเป็นนโยบายและกำชับให้ สกสค. ไปดำเนินการ ๓ เรื่อง ดังนี้

ขอให้ สกสค.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในกำกับที่ต้องจัดสวัสดิการและสวัสดิภาพครู ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของครู โดยการจัดสวัสดิการและสวัสดิภาพครูให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ให้ สกสค.ได้ติดตามการบริหารงานขององค์การค้าของ สกสค. เพื่อยกฐานะให้เป็นหน่วยงานที่จะสนองตอบต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสนองตอบต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ในเรื่องหนังสือเรียน อุปกรณ์การศึกษา สื่อด้านการศึกษาต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากยิ่งขึ้น

โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายชัดเจนที่จะจัดโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ๓ ประการ ได้แก่
๑) โครงการที่จะจัดนั้นต้องมองภาพรวมทั้งระบบว่าจะแก้ไขปัญหาในเรื่องของหนี้สินครูทั้งระบบได้อย่างไร เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
๒) สกสค.ต้องคิดในเรื่องรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามามีส่วนในการผลักดันให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและการพัฒนาชีวิตครูให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูอย่างแท้จริง
๓) ให้ สกสค. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องของการหาแหล่งเงินกู้ให้กับครู อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีผลโดยตรงที่จะได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าโครงการอื่นที่เคยทำมาแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น: