วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปฏิรูปการศึกษาสร้างความเป็นพลเมืองดี

คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(กขป.) จัดประชุมพิจารณา(ร่าง)กรอบแนวทาง ยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่สอง(พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๖๑) และพิจารณาข้อเสนอกิจกรรมและแผนการดำเนินงานการศึกษา เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนนี้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.)ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ อาคารวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยในที่ประชุมได้มีการพิจารณา(ร่าง)กรอบแนวทาง ยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูป การศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๖๑) สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ ๔ ด้าน
๑.คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล
๒.คนไทยใฝ่รู้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต(ใฝ่รู้)
๓.คนไทยใฝ่ดี มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มีศีลธรรม คุณธรรมและค่านิยมที่ดี(ใฝ่ดี)
๔.คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาเป็น มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ริเริ่มสร้างสรรค์(คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้)
ใช้กรอบแนวทางในการพัฒนา ๔ ด้าน ๑.พัฒนาคน ๒.พัฒนาครู ๓.พัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ ๔.พัฒนาการบริหารจัดการ

มติที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ รมว.ศธ.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ(ร่าง)กรอบแนวทางและยุทธศาสตร์ กลับไปศึกษาอีกครั้งและส่งเป็นเอกสารในเบื้องต้นให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการฯในการประชุม เพื่อทำการรวบรวมและจัดทำให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนการศึกษาให้เป็นรูปธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังกล่าวถึงประเด็นในการพิจารณาข้อเสนอกิจกรรมและแผนการดำเนินงานการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี คณะกรรมการได้กำหนด(ร่าง)ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดีไว้ ๓ ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ส่งเสริมการให้สถาบันการศึกษาทุกระดับเสริมทักษะและสำนึกของความเป็นพลเมืองดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ สร้างเครือข่ายและช่องทางเพื่อขับเคลื่อนและขยายผลอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ สร้างความตระหนักและระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี โดยกำหนดกิจกรรมในช่วงเดือน กรกฏาคม – กันยายน ไว้ ๓ ลักษณะ คือ ๑.การฝึกอบรม ๒.การพัฒนาการเรียนการสอน ๓.การรณรงค์/จัดทำสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ มติที่ประชุมเห็บชอบในกรอบยุทธศาสตร์ รมว.ศธ.เน้นย้ำการสร้างความเป็นพลเมืองดีไว้ ๓ ด้าน ๑.ด้านกระบวนการสร้างความปรองดอง ๒.ด้านสร้างความเป็นพลเมืองดี ๓.ด้านการต่อต้านการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนนี้ ส่วนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์จะต้องร่วมกันสร้างกระแสให้เกิดการตื่นตัวและการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ในทุกหน่วยงานหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ทุกภาคส่วนจะต้องมีการทำงานในร่วมกันในเชิงบูรณาการ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างแท้จริง ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: