วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สพฐ.เล็งโยกครู-ผอ.รร.ที่อยู่นานเกิน 10 ปี

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้มอบนโยบายให้ผอ.สพท. ได้สำรวจข้อมูลเพื่อพิจารณาเรื่องการสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนและครูที่อยู่นานเกิน 10 ปี เนื่องจากคณะอนุกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2554 ว่า ผอ.โรงเรียนและครูควรมีวาระการดำรงตำแหน่ง โดยควรมีการหมุนเวียนกันบ้างเพื่อให้เกิดการตื่นตัวและมีช่องทางในการพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น เพราะระยะเวลาในการทำงานและการเปลี่ยนบรรยากาศจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนทำงานเกิดความรู้สึกกระตือรือร้นได้

ดร.ชินภัทร กล่าวต่อไปว่า กรรมาธิการเห็นว่าการดำรงตำแหน่งของ ผอ.โรงเรียน น่าจะมีการหมุนเวียนให้เหมาะสม เพราะมองว่า ผอ.โรงเรียนไม่ควรบริหารอยู่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งนานเกิน 10 ปี ซึ่ง สพฐ.ได้มอบหมายให้ทุก สพท.ไปทำการสำรวจข้อมูลการดำรงตำแหน่งของ ผอ.โรงเรียนและครูทั่วประเทศว่ามีกี่คนที่อยู่ที่เดิมนาน 10 ปีขึ้นไปและ 15 ปีขึ้นไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปมาหารือเพื่อหาแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยจะเริ่มดำเนินการสำรวจภายในสัปดาห์นี้

“เรื่องการดำรงตำแหน่งเดิมนาน ๆ นั้น ในบางพื้นที่อาจ เป็นกรณียกเว้นตามเหตุผลทางราชการได้ เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการสำคัญ ๆ ซึ่ง ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ว่ามีเหตุผลและความจำเป็นมากน้อยเพียง ใด แต่หากเป็นเหตุผลส่วนตัวก็อาจไม่ค่อยมีน้ำหนัก” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.


สพฐ.ยอมรับข้อมูลงบฯ ซื้อสื่อป.3รั่ว

นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา เปิดเผยความคืบหน้าภายหลังสรุปผลการตรวจสอบการจัดซื้อหนังสือโครงการแก้ปัญหานักเรียนชั้น ป.3 ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งใช้งบประมาณโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 หรือเอสพี 2 กว่า 100 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 185 เขตทั่วประเทศดำเนินการว่า จากข้อสรุปของคณะอนุกรรมาธิการทั้ง 6 ประเด็น ทาง สพฐ.ได้ส่ง น.ส.พจนีย์ เจนพนัส รองผู้อํานวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สพฐ. มาเป็นผู้แทน สพฐ.ชี้แจงกับคณะอนุกรรมาธิการ ดังนี้

1.บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายหนังสือในโครงการนี้ทราบถึงรายละเอียดของโครงการและงบประมาณก่อน สพท. ซึ่งทางผู้แทนของ สพฐ.ชี้แจงว่า ยอมรับว่ามีสำนักพิมพ์ทราบข้อมูลโครงการนี้ก่อนจริง เมื่อเป็นเช่นนี้คณะอนุกรรมาธิการจึงมองว่า เหมือนเป็นการล็อคสเปคและเอื้อประโยชน์กับสำนักพิมพ์บางแห่ง

2.การจัดซื้อหนังสือของแต่ละ สพท.มีส่วนลดไม่เท่ากัน ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ทางผู้แทน สพฐ.ชี้แจง อ้างว่าสาเหตุที่แต่ละ สพท.ได้รับส่วนลดไม่เท่ากัน เพราะเปิดให้แต่ละแห่งเลือกซื้อหนังสือตามความต้องการของแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลที่ สพฐ.รายงานส่วนลดของ สพท.ต่างๆ ที่ได้รับ อาทิ สพท.ศรีสะเกษ เขต 2 ได้รับส่วนลดร้อยละ 40.79 สพท.จันทบุรี เขต 2 ร้อยละ 40.76 ในขณะที่อีก 32 เขตพื้นที่ฯ ได้รับส่วนลดร้อยละ 30-40, จำนวน 23 เขตพื้นที่ฯ ได้รับส่วนลดร้อยละ 25-29, จำนวน 45 เขตพื้นที่ฯ ได้รับส่วนลดร้อยละ 15-24 และอีก 58 เขตพื้นที่ฯ ได้รับส่วนลดร้อยละ 1-14 นอกจากนี้ มี สพท.ที่ไม่ได้รับส่วนลด 20 เขตพื้นที่ฯ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการของหลาย สพท.ทำให้รัฐเสียหาย อีกทั้งส่วนใหญ่ส่วนลดที่ได้รับจะได้รับคืนในรูปแบบหนังสือเพิ่มจากจำนวนที่สั่งซื้อ ซึ่งพิจารณาในเชิงลึกเห็นว่า เอื้อประโยชน์ให้กับสำนักพิมพ์บางแห่งขายหนังสือได้มากขึ้น แทนที่จะได้ส่วนลดเป็นเงิน เพื่อประหยัดงบประมาณ

3.การพิจารณาคัดเลือกหนังสือของ สพท.ต่างๆ แม้จะดูมีความหลากหลาย แต่ผลการคัดเลือกหนังสือก็ออกมาเหมือนกัน ซึ่งข้อสรุปนี้ทางผู้แทน สพฐ.ได้ชี้แจงว่า เป็นเพราะมีสำนักพิมพ์เสนอตัวเข้ามาขายจำนวนน้อย จึงทำให้ตัวเลือกหนังสือมีน้อย ซึ่งจากข้อมูลก็พบว่ามีเพียงไม่กี่สำนักพิมพ์ที่ได้ขายหนังสือให้แก่ สพท. ได้แก่ บริษัท เอกสามารถ จำกัด ขายหนังสือให้กับ 50 เขตพื้นที่ฯ, บริษัท โกลบอล เอ็ด จำกัด ขายให้กับ 45 เขตพื้นที่ฯ และบริษัท แมทริกซ์ มีเดียส์ จำกัด ขายให้กับ 24 เขตพื้นที่ฯ นอกจากนี้ มีของบริษัทที่มีการจัดซื้อเป็นส่วนน้อย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อักษรศิลป์, บริษัท เกรท เอ็ดดูเคชั่น จำกัด, ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันคุณภาพวิชาการ, บริษัท นิยมศึกษาภัณฑ์ จำกัด และสำนักพิมพ์สายน้ำใจ

4.เรื่องที่ สพฐ.มีคำสั่งให้ซื้อเฉพาะหนังสือเท่านั้น ทั้งที่การซื้อหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่เหมาะสมกับแนวทางการแก้ปัญหานักเรียนชั้น ป.3 ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งทางผู้แทน สพฐ.ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์โครงการต้องการจัดซื้อหนังสือเพื่อแก้ปัญหานักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

5.เรื่องการเร่งรีบใช้จ่ายงบประมาณตามคำสั่ง สพฐ. ทำให้เกิดความเสียหาย และไม่มีประสิทธิภาพ ผู้แทน สพฐ.ได้ชี้แจงว่า ไม่มีการสั่งให้เร่งดำเนินโครงการ แต่ สพฐ.กำหนดเวลาดำเนินการ 15 วัน แต่หากไม่ทันก็สามารถขอยืดเวลาได้ แต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการ พบว่ามีการสั่งการให้เร่งดำเนินการ จนทำให้ได้หนังสือไม่มีคุณภาพ และ

6.ประเด็นการจัดซื้อหนังสือที่มีความหลากหลายมากเกินไป ทางผู้แทน สพฐ.ชี้แจงว่า รูปแบบการจัดซื้อเป็นสิทธิของ สพท.ในการเลือกวิธีการจัดซื้อได้เอง โดยจากข้อมูลการชี้แจงพบว่า การดำเนินจัดซื้อมีความหลากหลายมากเกินไป โดยแบ่งเป็นสอบราคา ร้อยละ 52.97 วิธีพิเศษ ร้อยละ 33.51 และวิธีตกลงราคา ร้อยละ 10.52 คณะอนุกรรมาธิการจึงตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม สพฐ.จึงไม่สั่งการให้เลือกซื้อวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือเป็นเพราะเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่

นายแวดือราแมกล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการกำลังเร่งจัดทำรายละเอียดข้อสรุปทั้ง 6 ประเด็น เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ วุฒิสภา เพื่อให้เชิญนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มาชี้แจง เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ทางผู้แทน สพฐ.ชี้แจงยังไม่ชัดเจน อาทิ ต้องตรวจสอบว่าข้อมูลโครงการนี้ที่รั่วไหลไปเอื้อประโยชน์ให้กับสำนักพิมพ์ใดหรือไม่ และประเด็นส่วนลดที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งที่ สพฐ.ปล่อยให้มีรูปแบบจัดซื้อที่หลากหลายมากเกินไป โดยเฉพาะการใช้วิธีพิเศษ ซึ่งทำให้มองได้ว่าอาจจะเป็นช่องทางการล็อคสเปคและเอื้อประโยชน์ให้กับสำนักพิมพ์บางแห่ง

ไม่มีความคิดเห็น: