วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยความต้องการกำลังคน ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

รมว.ศธ. กล่าวว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายปีละประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีละประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยมาก เนื่องจากต้องการศึกษาต่อเพื่อให้ได้เงินเดือนสูงขึ้นตามค่านิยม ส่วนสถานประกอบการก็ต้องการผู้จบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและปริญญาตรี จำนวนประมาณ ๔๗,๐๐๐ คน แต่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีจำนวนมาก จึงทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการจ้างการงานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงมากขึ้นตามลำดับ จากการวิจัยพบว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาสาขาด้านเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่มจังหวัดแตกต่างกัน การแก้ไขปัญหายังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและผู้ผลิตรวมถึงการพัฒนากำลังคน ยังแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มจังหวัด ตลอดจนคุณภาพการผลิตและการพัฒนากำลังคนในส่วนกลางและภูมิภาคก็ต่างกัน

จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขคือ เน้นให้สถานศึกษามีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนครู การพัฒนาครู ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนเพื่อมุ่งเน้นในเรื่องของการฝึกทักษะ ความสามารถให้เพิ่มมากขึ้น และนำระบบการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพมาใช้ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาควรมุ่งเน้นในเรื่องของทวิภาคี และสหกิจศึกษา ส่วนในระดับอุดมศึกษาก็ต้องเน้นการมีงานทำและส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขัน

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มี ๙ ด้าน ดังนี้

๑.ปฏิรูประบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
๒.พัฒนาคุณภาพกำลังคนทุกระดับ
๓.เร่งผลิต พัฒนา กำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้มีปริมาณและมีคุณภาพตามความต้องการของสถานประกอบการ
๔.ผลิตและพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี
๕.ฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อยกระดับความสามารถกำลังแรงงาน
๖.เสริมสร้างความยั่งยืนให้ภาคผลิตและภาคบริการ
๗.สร้างเสริมความเข้มแข็งให้ครู คณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา
๘.พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
๙.สร้างระบบความร่วมมือและเครือข่ายการผลิตและการพัฒนากำลังคน

ไม่มีความคิดเห็น: