วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การประชุมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดและบรรยายการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ๗๖๐ คน

เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ รมว.ศธ.ได้เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา, ผู้แทน ก.ค.ศ., ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่, ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล และผู้ที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมายเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ จำนวน ๗๖๐ คน ใน ๑๘๕ เขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมประชุม โดย รมว.ศธ.ได้กล่าวว่าเป้าหมายหลักที่ได้ให้นโยบายในการประชุมครั้งนี้คือ เรื่องขวัญกำลังใจของข้าราชการครู ๗ แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ ๓ เรื่องที่สำคัญ คือ

- การผลิต การพัฒนา และการใช้ครู โดยได้ให้นโยบายชัดเจนว่าสำนักงาน ก.ค.ศ.และผู้เกี่ยวข้องจะต้องวางแผนระบบรากฐานที่ดีในการผลิต การพัฒนา และการใช้ครูทั้งระบบ เพื่อทดแทนอัตราครูที่จะเกษียณอายุราชการจำนวน ๑๘๐,๐๐๐ คนในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้านี้ ให้ได้คนที่เก่งและดีเข้ามาเป็นครู ไม่ใช่ใครก็ได้เข้ามาเรียนครู โดยเน้นไปที่การผลิตครูยุคใหม่ และการผลิตครูของครูให้มีคุณภาพ เพราะครูที่มีคุณภาพจะส่งผลถึงคุณภาพทางการศึกษาทั้งระบบ

- การพัฒนาระบบค่าตอบแทนและวิทยฐานะของครู โดยพยายามผลักดันให้มีพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะขณะนี้ได้เสนอเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้คำตอบเลยว่าจะนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาเมื่อใด เหตุที่ต้องการผลักดันกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อจูงใจให้คนเก่งเข้ามาเรียนครูให้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบค่าตอบแทนต่างๆ นอกจากนี้ในเรื่องวิทยฐานะของครู จะต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินวิทยฐานะ เปลี่ยนจากเน้นในการจัดทำเอกสาร เป็นการประเมินตามผลงาน ดังนั้นหากครูที่ได้รับรางวัลครูดีเด่นหรือเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมทางการศึกษาแนวใหม่ ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเลื่อนวิทยฐานะได้ ซึ่งการประเมินผลงานเชิงประจักษ์ของครู จะช่วยทำให้ครูมีเวลาในห้องเรียนมากขึ้น อันจะนำไปสู่คุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง

- การบริหารจัดการที่เป็นธรรมาภิบาล โดยได้ให้นโยบายว่าในการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้นเงินเดือนในปัจจุบัน จะต้องมีความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยึดความสามารถ ความอาวุโส ตามหลักธรรมาภิบาล เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้แต่งตั้งรองเลขาธิการ ก.ค.ศ.จำนวน ๒ ราย ก็ได้ยึดระบบคุณธรรมดังกล่าว จึงขอให้มั่นใจและร่วมมือกัน ไม่ให้เกิดการวิ่งเต้นหาผลประโยชน์เหมือนข่าวในช่วงที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวถึงนโยบายในภาพรวมถึงการแก้ปัญหาหนี้สินครูด้วยว่า หากใครมองว่าครูมีหนี้สินเพียงด้านเดียวตนจะคัดค้าน เพราะเชื่อว่าทุกสาขาอาชีพต่างก็มีหนี้สิน เพียงแต่ครูทั่วประเทศมีจำนวนมากจึงทำให้ครูมีหนี้สินรวมกว่า ๓ แสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกันครูก็มีเงินออมทั้งระบบมากถึง ๑ แสนล้านบาท ที่ผ่านมาธนาคารต่างๆ ต่างต้องการแก้ไขปัญหาโดยให้ครูกู้เงิน เพราะ NPL หรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของครูต่ำมากเพียงร้อยละ ๐.๓ เท่านั้น ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้สินครูจึงต้องมาดูการบริหารจัดการทั้งระบบเงินออมและระบบเงินกู้ให้มีประสิทธิภาพ ให้ครูมีอำนาจต่อรองมากที่สุด และได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำที่สุด ขณะนี้ ศธ.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลหนี้สินครูอย่างเป็นระบบแล้ว จากนั้นจะนำผลให้คณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลังดูแล พิจารณาดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของครูให้มากที่สุด

ด้านนายประเสริฐ งามพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.กำหนดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้อนุกรรมการสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการประชุม ไปพัฒนาการบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อไป โดยกำหนดการประชุมตั้งแต่วันที่ ๑๒-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓.

ไม่มีความคิดเห็น: